เวลาสาว ๆ มีประจำเดือนในแต่ละครั้งอาจสังเกตได้ว่าสีประจำเดือนอาจแตกต่างกันในแต่ละครั้งหรือในแต่ละช่วง แถมในบางครั้งอาจไม่ไหลเป็นเลือดอย่างเดียวแต่มาพร้อมกับลิ่มเลือดเป็นก้อน การที่สีของประจำเดือนนั้นแตกต่างกันมีสาเหตุจากอะไร แล้วสีประจำเดือนผิดปกติแสดงว่าเป็นอันตรายหรือเป็นโรคอะไรหรือไม่ ?
ประจำเดือน (Menstrual)
ประจำเดือน คือเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาในแต่ละเดือนจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง
ปกติแล้วเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาขึ้นในช่วงเวลาที่ไข่ตก เพื่อรองรับและฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ แต่เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวภายใน 2 สัปดาห์ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนนั่นเอง
โดยการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกนั้นจะกินเวลาประมาณ 3-7 วัน และเมื่อการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกหมดลง ร่างกายก็จะสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมาใหม่เพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป
ลักษณะประจำเดือนโดยทั่วไป
ลักษณะการมีประจำเดือนของสาว ๆ อาจแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละคน แต่ก็ยังมีเกณฑ์ลักษณะของประจำเดือนที่ถือว่าเป็นปกติ ดังนี้
1. ความสม่ำเสมอของรอบเดือน
โดยปกติแล้วเยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกออกมาเป็นประจำเดือนจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 21-35 วัน และในแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน และไม่ควรมาคลาดเคลื่อนไปมากกว่านี้ หากประจำเดือนคลาดเคลื่อน ประจำเดือนขาด หรือแม้แต่ประจำเดือนมาถี่กว่าปกตินั่นอาจหมายถึงระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล
2. ปริมาณของเลือดประจำเดือน
ปริมาณประจำเดือนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หากประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง หรือประจำเดือนมายาวนานกว่า 8 วันจะถือว่าผิดปกติ
3. อาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการที่ร่างกายหลั่งสารโพรสตาแกลน ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวและบีบตัว แต่เมื่อใดที่ร่างกายหลั่งสารออกมามากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย หากอาการปวดท้องประจำเดือนมากเกินไปนั่นอาจหมายถึงเกิดความผิดปกติของมดลูกขึ้น
ทำไมประจำเดือนจึงมีสีที่แตกต่างกัน
สาเหตุที่ในแต่ละช่วงของการมีประจำเดือนจะมีสีประจำเดือนที่แตกต่างกันเกิดได้จากปริมาณของเลือดที่ไหลในช่วงนั้น ระยะเวลาที่เลือดสัมผัสกับอากาศภายนอกร่างกาย รวมถึงความเก่าใหม่ของเลือดนั้นด้วย
ในช่วงแรกของการมีประจำเดือนอาจพบเห็นสีเลือดประจำเดือนเป็นสีแดงสดเพราะเลือดประจำเดือนนั้นเป็นเลือดที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก แต่เมื่อการมีประจำเดือนดำเนินมาในช่วงวันที่ใกล้หมดประจำเดือนอาจพบประจำเดือนสีเข้มขึ้น เพราะเลือดที่ตกค้างอยู่ในโพรงมดลูกนั้นเกิดขึ้นนานหลายวันแล้ว และเมื่อออกมาสัมผัสกับอากาศก็จะทำให้สีประจำเดือนคล้ำได้
สีประจำเดือนเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร
ทำไมสีประจำเดือนบอกสุขภาพว่าปกติหรือไม่ปกติได้ ? เพราะประจำเดือนคือเลือดที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก สีเลือดปกติควรจะมีสีแดง หรืออาจมีสีแดงคล้ำไปถึงดำขึ้นกับระยะเวลาการสัมผัสกับอากาศ แต่เมื่อใดที่สีประจำเดือนไม่ใช่สีแดงหรือสีแดงคล้ำตามที่กล่าวไปนั่นอาจแสดงถึงปัญหาทางสุขภาพนั่นเอง
สีประจำเดือน บอกอะไรได้บ้าง
1. เลือดประจำเดือนสีชมพู
สีประจำเดือนสีชมพูอาจมาจากการที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ และหากมีเลือดสีชมพูในช่วงก่อนถึงรอบเดือนและมาปริมาณเล็กน้อย นั่นอาจเป็นสัญญาณถึงการตั้งครรภ์หรือที่เรียกกันว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
นอกจากการตั้งครรภ์สีเลือดประจำเดือนสีชมพูอาจหมายถึงการบาดเจ็บภายในมดลูกก็ได้เช่นกัน
2. เลือดประจำเดือนสีแดงสด
ประจำเดือนสีแดงสดเป็นสีประจำเดือนปกติ โดยมักจะพบในช่วงแรกของรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่งหลุดลอกออกมาจากโพรงมดลูกมาเป็นประจำเดือน
ผู้ที่มีสีประจำเดือนสีแดงสดมักแสดงถึงสุขภาพที่ปกติดี แต่หากประจำเดือนมานานกว่า 7 วันควรเข้าพบแพทย์
3. เลือดประจำเดือนสีแดงเข้ม
สีประจำเดือนที่เป็นปกติอีกสีหนึ่งคือประจำเดือนสีแดงเข้ม โดยมักจะพบในช่วงวันท้าย ๆ ของรอบเดือน สีแดงเข้มของเลือดเกิดจากการที่เลือดตกค้างอยู่ในมดลูกระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนมามากกว่าปกติจากสภาพอากาศร้อนที่ทำให้มดลูกทำงานหนัก
4. เลือดประจำเดือนสีน้ำตาล
สีประจำเดือนสีน้ำตาลจะมีสาเหตุเหมือนกับประจำเดือนสีแดงเข้ม เกิดจากเลือดเก่าที่ตกข้างอยู่ในมดลูกเป็นเวลานานเช่นกัน
5. เลือดประจำเดือนสีดำ
เช่นเดียวกับประจำเดือนสีแดงเข้มและสีน้ำตาล สีประจำเดือนสีดำเป็นเพียงเลือดเก่าที่ตกค้างในมดลูกเป็นเวลานานและสัมผัสกับอากาศ พบได้ทั้งตอนกำลังจะเข้ารอบเดือนและกำลังจะหมดรอบเดือนก็ได้เช่นกัน
สีประจำเดือนไม่ปกติที่ควรระวัง
ประจำเดือนคือเลือด ซึ่งเลือดควรจะมีสีแดง หรืออาจจะเป็นสีแดงคล้ำอย่างประจำเดือนมีสีคล้ำก็ยังถือว่าเป็นสีประจำเดือนปกติ แต่หากเลือดประจำเดือนเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีแดง หรือโทนแดงนั่นอาจหมายถึงความผิดปกติ ดังนี้
1. เลือดประจำเดือนสีส้ม
สีประจำเดือนสีส้มนั้นอาจเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนปนกับหนอง ซึ่งเป็นการติดเชื้อภายในช่องคลอดไม่ว่าจะเป็นเชื้อทั่วไปหรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
2. เลือดประจำเดือนสีเทา
สีประจำเดือนสีเทาเกิดจากการที่ช่องคลอดมีจำนวนเชื้อแบคทีเรียมากเกินไปจนเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ
หากพบสีประจำเดือนแปลก ๆ อย่างสีส้มหรือสีเทาควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
หากประจำเดือนผิดปกติ..เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
หากสาว ๆ มีอาการประจำเดือนผิดปกติดังนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
- เลือดออกกะปริบกะปรอย
- ประจำเดือนมามากกว่าปกติ (เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง หรือมานานกว่า 8 วัน)
- รอบประจำเดือนผิดปกติ ไม่ว่าจะมาถี่เกินไป (น้อยกว่า 21 วัน) หรือประจำเดือนทิ้งห่างมาก (นานกว่า 35 วัน)
- ประจำเดือนขาดนานกว่า 3 เดือน (ไม่รวมกรณีตั้งครรภ์)
- เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ปริมาณมากกว่าปกติ
- สีเลือดประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนสีส้ม ประจำเดือนสีเทา
- เกิดลิ่มเลือดขนาดใหญ่ขณะมีประจำเดือน
- ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
- อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรงมากจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย
แนวทางการวินิจฉัยประจำเดือนผิดปกติ
ซักประวัติผู้ป่วย
เมื่อพบสูตินรีแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติของสาว ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาปกติไหม ปกติแล้วประจำเดือนมักจะมากี่วัน ในวันแรกหรือวันสุดท้ายของการมีประจำเดือนคือวันไหน สีของประจำเดือนปกติไหม รวมไปถึงอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนอย่างมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ปวดศีรษะ อ่อนแรงขณะอยู่ในช่วงประจำเดือนมาหรือไม่
เจาะเลือด
แพทย์อาจขอเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดของสาว ๆ เพราะสาเหตุของการขาดประจำเดือน หรือเกิดความผิดปกติของประจำเดือนอย่างมีเลือดก่อนถึงรอบเดือน อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ได้
ตรวจภายในและอัลตราซาวด์
เพื่อหาสาเหตุของการมีประจำเดือนผิดปกติโดยตรงสามารถตรวจได้ด้วยการตรวจภายใน แพทย์จะสอดกล้องผ่านช่องคลอดและตรวจภายในมดลูกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรืออาจตรวจด้วยการทำอัลตราซาวด์ภายนอกขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
วิธีดูแลตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือน
ระหว่างมีประจำเดือนจะเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ จึงควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการมีประจำเดือน ดังนี้
- ระวังการรับประทานของเย็น
ในช่วงระหว่างมีประจำเดือนควรงดอาหารที่มีฤทธิ์เย็น หรือเครื่องดื่มเย็น ๆ เพราะความเย็นจะทำให้มดลูกหดตัว การหดตัวของมดลูกจะทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงขึ้น และยังทำให้เลือดประจำเดือนไหลไม่ดีอีกต่างหาก
- ระวังไม่ให้เป็นไข้
สิ่งที่สาว ๆ หลาย ๆ คนไม่ควรจะเป็นในช่วงระหว่างมีประจำเดือนเลยคือการเป็นไข้ เพราะไข้ในช่วงการเป็นประจำเดือน อาจทำให้เกิดไข้ทับรดูได้ ซึ่งไข้ทับรดูนั้นจะทำให้ไข้สูงมากและเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
สาว ๆ ควรผ้าอนามัยบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผ้าอนามัยเต็มก่อน โดยระยะเวลาเปลี่ยนอย่างช้าที่สุดไม่ควรใช้นานเกินครึ่งวันต่อแผ่น เพราะการใส่ผ้าอนามัยเดินเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและเกิดการติดเชื้อได้
นอกจากนี้เลือดที่ออกมาอยู่บนผ้าอนามัยนาน ๆ จะทำให้สีประจำเดือนดูเข้มขึ้น หลาย ๆ คนมาดูทีหลังอาจเข้าใจว่าสีประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งในความจริงเกิดจากการที่เลือดสัมผัสกับอากาศนานเท่านั้น
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงประจำเดือนมา
ร่างกายของสาว ๆ ขณะมีประจำเดือนจะค่อนข้างอ่อนแอ และภูมิคุ้มกันลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หากฝ่าไฟแดง สาว ๆ อาจติดเชื้อได้ง่าย ๆ เลย
ข้อสรุป
สีประจำเดือนในแต่ละช่วงอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อใดที่สีประจำเดือนมีความผิดปกติอย่างมีสีส้มหรือสีเทา ซึ่งเป็นสีที่ไม่ควรจะพบ นั่นอาจหมายถึงความผิดปกติและอาการติดเชื้อในช่องคลอดและมดลูกได้
อาการผิดปกติของรอบเดือนนอกจากจะสังเกตจากสีประจำเดือนแล้วยังสามารถสังเกตได้จากปัจจัยอื่น ๆ อย่างอาการปวดท้องรุนแรง ความสม่ำเสมอของรอบเดือน ปริมาณรอบเดือนปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติใด ๆ ขึ้นควรเข้าพบแพทย์สูตินรีเวชเฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป