หายจากโควิด-19 ยังมีลองโควิด (Long COVID) อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ

ลองโควิด อาการหลังติดโควิด

โรคจบ… แต่อาการไม่จบ ในผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส หรือติดโควิด-19 มาก่อน ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนตรวจไม่พบเชื้อ หรือหายจากโรคแล้ว แต่กลับมีอาการที่คล้ายกับตอนที่ยังป่วยอยู่เช่น อาการไอหลังจากหายโควิด หรือในบางรายอาจมีอาการใหม่หลังการติดเชื้อ นั่นอาจหมายถึงว่าคุณมีอาการลองโควิด (Long COVID) แล้ว

ในบทความนี้จะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะลองโควิด คืออะไร ทำไมรักษาโรคโควิดจนหายแล้วถึงอาจเกิดอาการลองโควิด ลองโควิดมีอาการอย่างไรบ้าง สามารถรักษาอาการลองโควิดได้หรือไม่ 

รู้จักภาวะลองโควิด (Long COVID)

Post Covid-19 Syndrome, Post-COVID Conditions, Post-acute COVID-19, Chronic COVID, Long-haul COVID-19 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อลองโควิด (Long COVID) เป็นภาวะอาการที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายจากโรคแล้ว 

โดยอาการของภาวะลองโควิดอาจไม่ได้เกิดกับทุกคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แต่มีรายงานออกมาแล้วว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 30-50% จะมีอาการที่ผิดปกติ ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนหายจากโรคโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม และมักจะพบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีเชื้อลงปอด และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ภาวะลองโควิดมักจะเกิดหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะต่างจากเวลาของโรคโควิด-19 ที่จะใช้เวลาเพียงประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังรับเชื้อแล้วเท่านั้น และอาการลองโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวถึงแม้ว่าจะรักษาโรคโควิด-19 จนหายแล้วก็ตาม

Long COVID เกิดจากสาเหตุใด

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการที่พบได้หลังจากรักษาโควิด-19 หรือลองโควิด (Long COVID) ที่แท้จริง แต่ก็มีการสันนิษฐานสาเหตุของการเกิดภาวะลองโควิดไว้ว่าอาจเกิดจากรอยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 

เมื่อร่างกายติดเชื้อโคโรนาไวรัสไปครั้งหนึ่งแล้ว ถึงแม้จะรักษาจนอาการของโรคหายไป แต่เชื้อโคโรนาไวรัสจะไม่ได้หายไปจนหมดจากร่างกาย เมื่อร่างกายมีการตอบสนองต่อเชื้อโคโรนาไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะทำงานเพื่อต่อต้านเชื้อ เป็นหนึ่งในอาการลองโควิดนั่นเอง

นอกจากนี้ในระหว่างที่แสดงอาการของโรคโควิด-19 เชื้อโคโรนาไวรัสที่มีจำนวนมากในร่างกายอาจไปสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะและระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะปอด กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท เซลล์สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ทำให้ถึงแม้จะหายจากโรคโควิด-19 ไปแล้วก็ตามแต่อวัยวะที่เสียหายเหล่านี้อาจไม่สามารถซ่อมแซมกลับมาอย่างเดิมได้ ทำให้ร่างกายกลับมาทำงานได้ไม่เต็มที่ 

ใครบ้างเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิด

ลองโควิดเกิดกับใครได้บ้าง

ภาวะลองโควิด (Long COVID) เป็นอาการที่พบได้หลังจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสไปแล้วระยะหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิดจึงเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อโคโรนาไวรัส หรือเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน โดยโอกาสที่จะเกิดภาวะลองโควิดในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคโควิด-19 มาก่อนมากถึงประมาณ 30-50% เลยทีเดียว 

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคโควิด-19 บางประเภทที่จะมีโอกาสพบภาวะลองโควิดได้สูงกว่าบุคคลทั่วไป ได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงอายุ
  • ผู้ป่วยเพศหญิง มีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าเพศชาย
  • ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่อาการรุนแรง รักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางด้านจิตใจ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน ภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวสูงกว่าเกณฑ์

กลุ่มอาการลองโควิดมีอะไรบ้าง

ภาวะลองโควิดมีกลุ่มอาการที่แตกต่างกันไป โดยจะขอแบ่งกลุ่มอาการลองโควิดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. อาการลองโควิดที่พบได้ทั่วไป

อาการลองโควิดมีอะไรบ้าง

ในผู้ที่มีภาวะลองโควิดมักจะพบอาการเหล่านี้อาการใดอาการหนึ่ง หรืออาจเกิดหลาย ๆ อาการร่วมกันก็ได้ โดยในแต่ละคนมีอาการลองโควิดที่แตกต่างกัน อาการลองโควิดที่พบมีทั้งที่ใกล้เคียงกับเมื่อตอนติดเชื้อ และอาการอื่น ๆ ที่ดูไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้

  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจลำบาก หายใจได้ไม่สุด แน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ใจสั่น
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าเดิม
  • เวียนศีรษะ
  • เป็นไข้ตลอดเวลา
  • ท้องร่วง
  • ท้องเสีย หรือท้องอืด
  • นอนไม่หลับ
  • ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD)

และอาการที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด ได้แก่

  • ผมร่วง : โดยมีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความเครียดในช่วงระหว่างรักษาตัวจากโรคโควิด-19 หรือการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ต่อต้านเชื้อโคโรนาไวรัสด้วยการทำให้เกิดการอักเสบ 
  • อาการหลงลืม สมาธิสั้น : สาเหตุของอาการหลงลืม สมาธิสั้นได้ถูกสันนิษฐานไว้ว่าอาจเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสไปทำลายระบบประสาทและสมอง ถึงแม้เชื้อโคโรนาไวรัสไม่ได้ทำลายระบบประสาทและสมองได้มาก แต่ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการหลงลืม สมาธิสั้นได้

2. ภาวะข้างเคียงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด

ลองโควิด อาการข้างเคียงหลังติดโควิด

ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคโควิด-19 ในระดับปานกลางและรุนแรงจากการที่เชื้อโคโรนาไวรัสในร่างกายมีจำนวนที่มากพอในการสร้างความเสียหายและทำลายอวัยวะ ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย 

ดังนั้นถึงแม้เชื้อโคโรนาไวรัสจะลดจำนวนลงจนไม่แสดงอาการของโรค (หายป่วยจากโรคโควิด-19) แล้วก็ตาม แต่ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ที่ถูกทำลายไปแล้วอาจฟื้นฟูกลับมาได้ไม่เหมือนเช่นเดิม 

นอกจากนี้โคโรน่าไวรัสยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบกับอวัยวะต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนหลังติดเชื้อมีดังนี้

  • ปอดอักเสบ เกิดพังผืดภายในปอด
  • ลิ่มเลือด หลอดเลือดเกิดการอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ตับอักเสบ 
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท

3. ผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด

ลองโควิด อาการข้างเคียงหลังรักษาโควิด

  • ผลข้างเคียงจากการนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

ผลกระทบจากการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูนั้นอาจเกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) ได้

นอกจากนี้การต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดแขนขาอ่อนแรง เหนื่อยง่าย จากการไม่ได้ขยับร่างกาย หรือเกิดแผลกดทับได้

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโควิด

ยาที่ใช้รักษาโควิดมักจะเป็นยาที่รักษาตามอาการ และมักไม่ค่อยพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาเท่าไรนัก แต่ก็อาจมียาบางตัวที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดกรดในกระเพาะได้

อาการลองโควิดในผู้ที่มีโรคประจำตัว

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว การติดเชื้อโคโรนาไวรัสอาจส่งผลให้เกิดอาการที่ทำให้โรคประจำตัวเลวร้ายลงในระยะยาว ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

แต่เดิมที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจนั้นมักมีอาการที่ทำให้การหายใจไม่ปกติอยู่แล้ว การได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสจะทำให้ปอดเกิดการอักเสบ และทำให้เกิดการอุดตันในถุงลมปอด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง ทำให้ออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ

นอกจากนี้โคโรนาไวรัสที่ไปทำลายปอด ทำให้เกิดรอยโรคเกิดเป็นพังผืดในปอด ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอเท่าเดิม ซึ่งอาการที่แสดงออกมาได้แก่ หายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไอเรื้อรัง 

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มักจะพบภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง โดยอาการที่แสดงออกคือ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เชื้อโคโรนาไวรัสสามารถเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ตับอ่อนที่มีหน้าที่สร้างอินซูลิน ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะเกิดอาการขาดอินซูลิน และทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

  • ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ

ในผู้ป่วยจิตเภทหลาย ๆ คนมักมีอาการกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยร่างกายที่มากกว่าคนปกติ เมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิด-19 ก็มักจะกังวลถึงอาการของโรคที่ร้ายแรง ความกังวลเหล่านี้สามารถส่งผลให้สภาพร่างกายแย่ลงได้

ยิ่งไปกว่านั้นในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ต้องรับการรักษาในห้องไอซียู หรือต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) ได้

ภาวะลองโควิดในเด็ก (Mis-c)

ภาวะลองโควิดในเด็ก

Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 หรือที่เรียกกันอย่างง่ายว่า MIS-C เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อโคโรนาไวรัสในเด็ก ซึ่งจะมีอาการที่แตกต่างจากลองโควิด (Long COVID) ทั่วไป

ภาวะ MIS-C ในเด็กจะมีอาการใกล้เคียงกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ที่เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย จากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานมากเกินไป อาการที่พบเช่น มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งภาวะ MIS-C สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะ MIS-C หรือลองโควิดในเด็กมีโอกาสเพียง 0.14% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามควรเฝ้าระวังเด็กที่เคยติดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะภาวะ MIS-C ที่รุนแรงนั้นสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว

การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันภาวะ Long COVID ได้ไหม

การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันภาวะ Long COVID ได้ไหม

การฉีดวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้ แต่สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วยังไม่มีรายงานวิจัยใด ๆ ที่บอกได้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันภาวะลองโควิดได้ แต่ก็มีรายงานพบว่ามีผู้ป่วยภาวะลองโควิดที่อาการดีขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน

การดูแลตัวเองป้องกันภาวะลองโควิด

การป้องกันตัวเองจากภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการไม่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส หรือเป็นโรคโควิด-19 นั่นเอง และการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 คือการฉีดวัคซีน ถึงแม้ว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดระดับความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้ค่อนข้างมาก 

และนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 เมตร รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

วิธีฟื้นฟูร่างกายเมื่อเป็นภาวะลองโควิด

ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลองโควิด

สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคโควิด-19 และกำลังอยู่ในภาวะลองโควิด ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและบรรเทาอาการภาวะลองโควิด ดังนี้

1. ทานอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและบำรุง

หลังจากหายจากโรคโควิด-19 แล้วควรฟื้นฟูและบำรุงร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา นม ถั่วต่าง ๆ เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารที่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่จากการถูกทำลายได้

2. ออกกำลังกายอย่างพอดี

เพราะเชื้อโคโรนาไวรัสมีผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเชื้อลงปอด ถึงแม้รักษาโรคจนหายแล้วก็อาจเกิดภาวะลองโควิดจากการที่ปอดเสียหายได้ 

ดังนั้นผู้ป่วยภาวะลองโควิดควรออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก เนื่องจากปอดยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

3. ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

ภาวะลองโควิดมักมีโอกาสเกิดกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวได้สูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านจิตใจจากการติดโควิด-19 เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) ภาวะนอนไม่หลับ สามารถเข้ารับปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรักษาสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติ

ตรวจภาวะลองโควิด..เพื่อร่างกายที่แข็งแรง

สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเช็คถึงความผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะลองโควิด (Long COVID) 

หรือหากมีอาการผิดปกติหลังรักษาโรคโควิด-19 จนหายแล้ว เช่น หายใจไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย สมาธิสั้น สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมได้ หากพบถึงอาการลองโควิดได้เร็วก็จะสามารถวางแผนการรักษาและพื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติได้เร็วขึ้น  

โดยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็จะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่สามารถเช็คระบบและอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดภาวะลองโควิดอยู่ หากผู้ที่เคยติดโควิด-19 สนใจและอาจมีความกังวลว่าจะเป็นลองโควิดหรือไม่สามารถเดินทางไปตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป

ลองโควิดตรวจได้ที่ไหน ก่อนตรวจต้องดูอะไรบ้าง

อาการลองโควิด เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด 19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 – 12  สัปดาห์ อาการที่พบจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้กล่าวไว้ คนที่พบว่ายังมีอาการเรื้อรังหลังรักษาโรคโควิด 19 หายแล้ว สามารถเข้ารับการตรวจอาการ “ลองโควิด” และทำการรักษาได้ตามสถานที่ดังนี้

  • สิทธิ์บัตรทอง หรือ สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ ของ สปสช. – หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สด.) ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่รักษาเป็นประจำ
  • สิทธิ์ประกันสังคม : โรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคมเขตพื้นที่
  • สิทธิ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) : ตามสถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง
  • สิทธิ์ข้าราชการกรมบัญชีกลาง : สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง
  • แรงงานต่างด้าว / สิทธิ์อื่น สำหรับครูเอกชน หน่วยงานรัฐอื่น – ตามสถานพยาบาลภาครัฐใกล้บ้าน

ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจและรักษาอาการลองโควิด ต้องสังเกตดูว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่ เช่น

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • รู้สึกมีไข้ตลอดเวลา
  • ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นหน้าอก
  • นอนไม่ค่อยหลับ สมองไม่สดชื่น ความจำไม่ดีเหมือนเดิม
  • ปวดตามข้อ เจ็บจี๊ดตามร่างกาย ปลายมือ ปลายเท้า
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล อยู่ตลอดเวลา

อาการลองโควิดเหล่านี้มักพบได้ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 35% และแบบผู้ป่วยในมากถึง 87%

คำถามที่พบบ่อย

สำหรับคำถามที่มักจะพบเจอบ่อย ๆ จากคนที่เคยเป็นโควิด 19 แล้วภายหลังก็พบว่ามีอาการลองโควิด จึงมักเป็นดังกล่าวตามข้างล่างนี้ แต่สิ่งเหล่าจะไม่เป็นเรื่องควรวิตกกังวลอีกต่อไป หากรู้จักป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดไม่ให้ติดเชื้อโควิด 19 จะดีสุด เช่น

  • ใส่หน้ากากเสมอสองชั้น : ชั้นในหน้ากากอนามัย ชั้นนอกหน้ากากผ้า
  • เลี่ยงสถานที่แออัด มีการระบายอากาศที่ดี
  • งดปาร์ตี้สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนและคนรู้จัก พบคนน้อยลงสั้นลง
  • รักษาระยะห่าง ๆ กับบุคคลที่ 2, 3
  • ล้างมือด้วยน้ำ / แอลกอฮอล์ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งของที่ไม่ใช่ของตัวเอง

โดยเราได้รวบรวมคำถามต่าง ๆ ที่คนสงสัยเกี่ยวกับลองโควิด มีดังนี้

ลองโควิด อันตรายไหม

จากรายงานทางการแพทย์ ยังไม่พบว่าลองโควิดมีอันตรายถึงชีวิต แต่อันตรายที่กล่าวถึงนั้นโดยมากมักจะมาจากอาการโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังที่ติดโควิด 19 แล้ว

ถึงแม้ลองโควิดจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเป็นแล้วอาการจะมีมากกว่า 200 อาการที่สามารถพบได้ในทุกระบบของร่างกายที่สร้างปัญหาในระยะยาว

นอกจากนี้ยังพบว่า คุณภาพชีวิตได้ลดลงจากอาการลองโควิด และผลการวิจัยผลพบว่า

  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5 เท่า
  • พบอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย มากถึง 1 ใน 3
  • พบว่ามีปัญหาด้านความจำราว 1 ใน 5
  • พบอาการในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก 3 เท่า
  • พบได้ทั้งในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลและไม่ได้นอนในโรงพยาบาล

เป็นลองโควิด แล้วจะหายไหม

คนที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด 19 แล้วรักษาหายแล้ว แต่หากพบว่าหลังจากนั้นร่างกายมีอาการเหนื่อยกว่าปกติ หายใจเหนื่อย, ไอเรื้อรัง, รู้สึกซึมเศร้า, มีภาวะเครียด แต่จะไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งเป็นอาการลองโควิดที่พบได้ แต่อาการเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วก็หายได้แต่ไม่ใช่ในระยะเวลาสั้น ๆ อาจยาวนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป แต่หากมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย 

ยกเว้นเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วย ICU ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คนที่มีอายุมาก คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน, โรคเบาหวานหรือโรคระบบภูมิคุ้มต่ำ เป็นต้น ขอแนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองอีกที และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัด

ข้อสรุป

ภาวะลองโควิด (Long COVID) เป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยบางรายหลังจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส และได้รับการรักษาจนหายแล้ว โดยอาการลองโควิดมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล อาจเกิดอาการที่คล้ายกับช่วงติดเชื้อโควิด-19 หรือเกิดอาการใหม่ที่ดูแล้วอาจไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อก็ได้ 

หากผู้ที่เคยติดเชื้อและได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่พบถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่เข้าข่ายภาวะลองโควิด ควรเข้ารับการตรวจร่างกาย และรับการรักษาฟื้นฟูร่างกายโดยเร็ว เพราะภาวะลองโควิดสามารถส่งผลกระทบแก่ร่างกายในระยะยาวได้

Thank you for your Vote Rating
[Total: 0 Average: 0]