ประกันสุขภาพ (Health Insurance) หลายเรื่องน่ารู้ เป็นตัวช่วยยามฉุกเฉิน

ประกันสุขภาพ

“ทำไมทุกคนควรมีประกันสุขภาพ?” หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัย แต่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน บางคนอาจจะคิดว่าไม่เห็นจำเป็น ทำไมต้องมาจ่ายเบี้ยทิ้งทุกปี ในเมื่อสุขภาพก็ยังแข็งแรงดี ไม่เคยป่วย ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย  หรือบางคนสนใจอยากทำประกันแต่ข้อมูลก็มากมายเหลือเกินจนสับสน ไม่รู้จะเลือกทำประกันสุขภาพแบบไหนดี ที่ให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง  วันนี้เลยอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจในเรื่องของประกันสุขภาพ ว่าทำไมเราควรมีประกันติดตัวไว้ให้อุ่นใจและแบบไหนน่าจะเหมาะกับเราที่สุด


ประกันสุขภาพ คืออะไร??

ประกันสุขภาพ คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้รับการบาดเจ็บทางร่างกายจากอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยจากโรคภัย และหากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย


ทำไมเราถึงควรซื้อประกันสุขภาพ

ควรซื้อประกันสุขภาพ

การทำประกันสุขภาพ เป็นการช่วย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี เพราะการทำประกันสุขภาพถือเป็นการจ่ายเงิน เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงด้านสุขภาพ การเจ็บป่วย หรือจากอุบัติเหตุ ที่เราต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้บริษัทประกันแต่ละแห่งได้ปรับและออกแบบให้ครอบคลุมครบถ้วนในราคาพอเหมาะ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ทำประกัน  และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรทำประกันสุขภาพ


ประกันสุขภาพส่วนบุคคลต่างจากประกันสุขภาพกลุ่มอย่างไร

เรามาดูกันเลยว่าประกันสุขภาพส่วนบุคคลและประกันสุขภาพกลุ่มคืออะไรเป็นแบบไหนและ มีรายละเอียดอะไรบ้าง ที่ผู้ทำประกันควรทราบ

ประกันสุขภาพส่วนบุคคล

ประกันสุขภาพส่วนบุคคล (Individual Health Insurance) คือ ประกันสุขภาพที่คุ้มครองผู้ทำประกันเพียงคนเดียว สามารถเลือก และกำหนดได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคลให้เหมาะตามความเสี่ยง และความต้องการนั้น ๆ มีอิสระสามารถเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับตนเอง และค่าเบี้ยประกัน ทางบริษัทประกันจะคำนวณตามเพศและอายุของผู้ทำประกัน

ประกันสุขภาพกลุ่ม

ประกันสุขภาพกลุ่ม (Group Health Insurance) คือประกันที่บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ทำให้พนักงานหรือบุคลากรภายในองค์กรเป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ซึ่งพนักงานทุกคนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกรมธรรม์แบบเดียวกันตามที่บริษัทได้เลือกความคุ้มครองไว้ให้ และที่สำคัญค่าเบี้ยประกันแบบกลุ่มราคาจะต่ำกว่าประกันสุขภาพส่วนบุคคลมาก


ประกันสุขภาพแบ่งออกเป็นกี่แบบ

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โรคภัยมีเพิ่มมากขึ้น ผู้คนก็เจ็บป่วยกันง่าย ดังนั้นการมีประกันสุขภาพ จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจ่ายค่ารักษาแพง ๆ และลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหากต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะประกันสุขภาพจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการรองรับความคุ้มครองสุขภาพที่หลากหลายรูปแบบผู้ทำประกันสามารถเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเองได้ดังนี้

ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก

ผู้ป่วยนอก หรือที่เรียกว่า Out-Patient-Department หรือ opdคือ ผู้ป่วยที่เข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนอนพักที่โรงพยาบาล สามารถกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ และระยะเวลาในการเข้ารับการรักษาติดต่อกันภายในวันเดียวจะต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมง โดยส่วนมากอาการป่วยของผู้ป่วยนอกจะไม่รุนแรงมากนัก เช่น ปวดหัว เป็นไข้ หรือมีอาการแพ้ ผด ผื่น คัน โดย แพทย์ลงความเห็นให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ ก็นับเป็นผู้ป่วยนอกทั้งหมด ซึ่งประกันสุขภาพก็จะรับผิดชอบในส่วนนี้

ประกันโรคร้ายแรง

ประกันโรคร้ายแรง คือ ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ตรวจพบว่าผู้เอาประกันเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในนิยามของกรมธรรม์ หรือยึดตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมักจะจ่ายเป็นเงินก้อนให้ในกรณีที่ตรวจพบเพื่อให้ผู้เอาประกันสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในการรักษาตัวหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาตัวได้ ซึ่งโรคร้ายแรงที่ประกันครอบคลุมมักแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้  5 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มโรคมะเร็ง ครอบคลุมมะเร็งระยะที่ยังไม่ลุกลาม และระยะลุกลาม เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ ฯลฯ
  2. กลุ่มโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ครอบคลุมการผ่าตัดทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจแตก โรคกล้ามเนื้อหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น
  3. กลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ครอบคลุมโรคเกี่ยวกับสมองต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในสมองชนิดไม่ใช่มะเร็ง โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน เป็นต้น
  4. กลุ่มโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ เช่น โรคโปลิโอ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคอัมพาตครึ่งซีก โรคกล้ามเนื้อเสื่อม ภาวะข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดรุนแรง รวมถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด เป็นต้น
  5. กลุ่มโรคเกี่ยวกับอวัยวะสำคัญ เช่น โรคหอบหืดรุนแรง โรคไตวายเรื้อรัง โรคถุงน้ำในไต โรคปอดระยะสุดท้าย การผ่าตัดตับ การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น

ประกันชดเชยรายได้

ประกันชดเชยรายได้ คือ บริษัทประกันจะจ่ายชดเชยรายได้ให้กับผู้ทำประกันที่สูญเสียรายได้ไประหว่างที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามวงเงินที่กรมธรรม์ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งประกันสุขภาพประเภทนี้จะครอบคลุมทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน

ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน

ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน หรือที่เรียกว่า In-Patient-Department หรือ ipdคือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง โดยจะต้องได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ ซึ่งการเลือกทำประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยใน ส่วนใหญ่ความคุ้มครองจะครอบคลุมค่าปรึกษาแพทย์ ค่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่าบริการใช้ห้องผ่าตัด ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางชีวเคมี ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด ค่ารถพยาบาล ค่าเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมถึงค่าชดเชยจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย


สรุป

สรุปประกันสุขภาพ

ดังนั้นการทำประกันสุขภาพสามารถช่วยให้สบายใจได้ระดับหนึ่ง ถ้าเป็นอะไรขึ้นมา สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกเมื่อ และการประกันสุขภาพไม่ได้สำคัญสำหรับแค่ตัวเราเองแต่ยังรวมไปถึงครอบครัวและคนที่เรารัก เราก็สามารถมอบสิ่งดี ๆ อย่างการซื้อประกันให้เป็นของขวัญได้ด้วย เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตอย่างอุ่นใจ ไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่จะเกิดในอนาคต


Thank you for your Vote Rating
[Total: 0 Average: 0]