ปัญหารังแค สร้างความไม่มั่นใจและกวนใจ จากอาการคัน หนังศีรษะแห้งลอกเป็นแผ่น บางคนเป็นรังแคหนักมาก เป็นรังแคเยอะ ที่ลองมาทุกวิธี ทั้งแชมพูรักษารังแค หรือการใช้สมุนไพรก็ไม่สามารถขจัดรังแคได้หมดและหายขาด โดยถึงแม้ว่าปัญหารังแคจะไม่เป็นอันตายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ก็ทำให้เสียบุคลิกภาพ หรืออาจทำให้เป็นปัญหารังแคผมร่วงได้
ในบทความวันนี้เราจะพาทุกท่านพบกับข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับรังแคคืออะไร รังแคเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นรังแคใช้แชมพูอะไรดี และจะมีวิธีขจัดรังแคให้หายขาดได้อย่างไร
รังแค (Dandruff)
รังแคคืออะไร รังแคเยอะ Dandruff คือ ภาวะหนังศีรษะแห้งที่เกิดขึ้นเรื้อรังที่สามารถพบได้ทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ หนังศีรษะแห้ง และมีลักษณะเป็นแผ่นขุยสีขาวบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งคนที่เป็นรังแคมักจะเห็นเป็นขุยสีขาวตกใส่เสื้อที่ไหล่และบ่า โดยรังแคไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้เป็นโรคอันตรายร้ายแรงอะไร รวมไปถึงสามารถควบคุมอาการและรักษาหายขาดได้
รังแค เกิดจากหนังศีรษะเกิดความไม่สมดุล จนทำให้การผลัดเซลล์ผิวผิดปกติ ซึ่งภาวะรังแคเรื้อรังนี้เวลาที่เราสระผม รังแคจะจับตัวเป็นก้อน และไม่สามารถหลุดออกจากเส้นผมและหนังศีรษะได้ โดยสามารถพบอาการอักเสบและหนังศีรษะแดงได้เล็กน้อย
การรักษารังแคอาจต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมไปถึงรักษาควบคู่กับการใช้แชมพูขจัดรังแค แต่หากรักษามานานกว่า 1 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา เพราะอาการรังแคที่เป็นอยู่นานกว่าปกติอาจทำให้ผิวหนังศีรษะเกิดการอักเสบที่รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติ
อาการของรังแค
อาการของรังแคจะมีลักษณะหนังศีรษะแห้งลอก หนังศีรษะแห้งมีรังแค มีรังแคเป็นแผ่น โดยรังแคสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รังแคแห้งและรังแคเปียก ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้จะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันรวมไปถึงมีวิธีการรักษาที่ต่างกันออกไปด้วย
รังแคแห้ง (Dry Dandruff)
รังแคแห้งเป็นลักษณะรังแคแห้งสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาว มักหลุดร่วงลงมาจากหนังศีรษะลงมาที่เสื้อผ้า มีอาการหนังศีรษะแห้งลอก มีอาการคัน โดยรังแคแห้งเกิดจากหนังศีรษะที่แห้งไม่มีน้ำมันตามธรรมชาติมาหล่อเลี้ยงหนังศีรษะ ทำให้ผิวหนังศีรษะขาดความชุ่มชื่น จนเกิดเป็นหนังศีรษะแห้งลอก หนังหัวแห้งเป็นรังแค
สำหรับการรักษารังแคแห้ง ควรเพิ่มความชุ่มชื่นให้หนังศีรษะด้วยการปรับพฤติกรรม ปรับเรื่องอาหารการกิน ไม่ควรสระผมบ่อยจนเกินไป รวมไปถึงเลือกใช้แชมพูสระผมขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของวิตามินอี แพนธีนอล และไนอาซินาไมด์
รังแคเปียก (Oily Dandruff)
อาการรังแคเปียกจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับรังแคแห้ง โดยเกิดจากการทำงานของต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากผิดปกติ อาจเกิดขึ้นได้จากฮอร์โมน ร่างกายขาดความสมดุล หรืออาจเกิดได้จากการทานอาหารบางชนิดที่ไปกระตุ้นต่อมน้ำมันที่หนังศีรษะให้ผลิตน้ำมันมากผิดปกติ
หากน้ำมันถูกผลิตมากกว่าปกติจะเป็นการเพิ่มของเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ให้เจริญเติบโต ซึ่งจะไปกระตุ้นหนังศีรษะและเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้เร็วยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นรังแคแผ่นใหญ่ รังแคสีเหลือง รวมถึงมีลักษณะรังแคหนากว่ารังแคแห้ง
สำหรับการรักษารังแคเปียกทำได้โดยใช้แชมพูขจัดรังแค และแชมพูที่ช่วยควบคุมความมันบนหนังศีรษะ รวมถึงต้องสระผมให้บ่อยขึ้น เป่าผมให้แห้ง และต้องปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาสมดุลให้ร่างกาย
รังแคเกิดจากสาเหตุใด
โดยปกติแล้ว หนังศีรษะเราจะมีการผลัดเซลล์ผิวที่ตายอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว แต่อาการของรังแคเกิดจากการผลัดเซลล์ผิวหนังศีรษะที่เร็วกว่าปกติ จนทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วเป็นแผ่นและตกสะเก็ด โดยรังแคเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
สาเหตุรังแคแรกคือ เชื้อรามาลาสซีเซียซึ่งเป็นเชื้อราที่อยู่บนหนังศีรษะเราเป็นปกติอยู่แล้ว แต่หากมีปริมาณมากกว่าปกติจะทำให้เกิดการสร้างและกระตุ้นหนังศีรษะให้ผลัดเซลล์ผิวที่เร็วกว่าปกติ จนทำให้เกิดเป็นรังแค โดยปัจจัยที่ทำให้มีเชื้อรามาลาสซีเซียมากกว่าปกติได้แก่ อายุ ฮอร์โมน และความเครียด
2. เชื้อราบนหนังศีรษะ
เชื้อราบนหนังศีรษะเป็นภาวะที่เชื้อรากระจายตัวไปลึกลงรูขุมขน ก่อให้เกิดอาการคันบนหนังศีรษะ ผมร่วงเป็นหย่อม รวมไปถึงอาจมีอาการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วย มักเกิดขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ หรือเป็นโรคที่มีผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
3. ผิวหนังอักเสบจากการแพ้
อาการผิวหนังอักเสบจากการแพ้เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่หนังศีรษะได้สัมผัสกับสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผม จนก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ครีมย้อมผม, เจลแต่งผม หรือสเปรย์จัดทรงผม ฯลฯ
4. ความชุ่มชื่นของหนังศีรษะ
ในบางรายสาเหตุรังแค รังแคเยอะ ผู้ชาย อาจเกิดได้จากหนังศีรษะแห้งเนื่องจากขาดความชุ่มชื่นบนหนังศีรษะ โดยต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันได้น้อย จนทำให้ไม่มีน้ำมันมาหล่อเลี้ยงคงความชุ่มชื้น ทำให้หนังศีรษะแห้งเกิดเป็นขุยหรือสะเก็ดขนาดเล็ก ซึ่งต่อมน้ำมันที่หนังศีรษะถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ หากร่างกายผลิตได้น้อยไปหรือมากไปก็เป็นสาเหตุรังแคได้ ทั้งรังแคแห้งที่เกิดจากการผลิตน้ำมันได้น้อย และรังแคเปียกที่มีน้ำมันออกมามากผิดปกติ
5. ผิวหนังอักเสบจากโรคอื่น ๆ
การเกิดโรคบางชนิดอาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังศีรษะเกิดการอักเสบ จนทำให้ร่างกายผลัดเซลล์ผิวได้เร็วกว่าปกติจนเป็นรังแคได้เช่นกัน อาทิ โรคสะเก็ดเงิน ที่ทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวผิดปกติ, โรคพาร์กินสัน ที่ส่งผลต่อต่อมผลิตน้ำมัน หรือโรคเอดส์ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและทำให้ผิวอักเสบง่ายกว่าปกติ
ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดรังแค
ปัจจัยบางอย่างที่เราอาจเจอแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวอาจเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดรังแคได้มากกว่าปกติเช่นกัน อาทิ อายุ, เพศ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้หนังศีรษะขาดความชุ่มชื่น หรือมีน้ำมันผลิตออกมามากกว่าปกติ จนเป็นสาเหตุรังแค
ปัจจัยภายใน
- อายุ โดยอายุที่มักพบว่าเป็นรังแคได้บ่อยที่สุดคือ ช่วงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงประมาณ 50 ปี
- เพศ พบว่าในผู้ชายจะเป็นรังแคได้ง่ายกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย)
- ฮอร์โมน หากมีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากก็ยิ่งทำให้เกิดการผลิตน้ำมันออกมามาก จนทำให้เกิดเป็นเชื้อราและทำให้เป็นรังแคได้มากขึ้น
- ความเครียด ในรายที่มีความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล เมื่อฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติก็จะเป็นสาเหตุให้หนังศีรษะเกิดความผิดปกติ จนทำให้เกิดรังแคตามมาได้
- พันธุกรรม โรคผิวหนังบางอย่างและลักษณะของหนังศีรษะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ปัจจัยภายนอก
- อุณหภูมิและอากาศ ทั้งความร้อน ความเย็น ความชื้น และความแห้ง ทำให้หนังศีรษะสูญเสียความชุ่มชื้น
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด ๆ รสหวาน รสเค็ม หรือเผ็ดมาก ๆ หรือกรดไขมัน มีผลกระทบต่อต่อมไขมัน และเพิ่มปริมาณของเชื้อราบนหนังศีรษะ
- ดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลจนเกิดปัญหาที่หนังศีรษะได้
- มลภาวะและเหงื่อ เช่น ฝุ่นควันและเหงื่ออาจทำให้หนังศีรษะเกิดความสกปรก หมักหมม ทำให้หนังศีรษะเกิดการอักเสบขึ้นได้
โรคที่อาจเกิดร่วมกับรังแค
การเกิดโรคบางชนิดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคเยอะโดยตรง รวมไปถึงอาจเป็นโรคที่ส่งผลกระทบให้เกิดรังแคทางอ้อม โดยเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายจนทำให้เกิดรังแคได้ ดังนี้
- โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะที่ทำให้ผิวหนังมีลักษณะมัน ๆ มีสีแดง เป็นสะเก็ด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณในร่างกายที่มีต่อมน้ำมัน เช่น คิ้ว ขาหนีบ รักแร้ หรือบริเวณข้างจมูก ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดรังแคเปียกแบบเดียวกับเชื้อรามาลาสซีเซีย จะต้องใช้ยาแก้อักเสบหรือยาสเตียรอยด์รักษาควบคู่กัน
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ทำให้ผิวหนังเกิดการผลัดเซลล์ผิวได้ไวกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดเป็นรังแคเยอะ มีแผ่นหนากว่าปกติ ทำให้มีอาการคัน และอาจมีเลือดออกบริเวณที่เป็นรังแคด้วย
- ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ลักษณะเป็นผื่นแพ้และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ จนทำให้ผิวแห้งลอก ผิวแดง มีอาการตกสะเก็ด และมีอาการคันผิวหนัง
- เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) เป็นภาวะที่มีเชื้อราลงลึกลงไปยังรูขุมขน ทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ และอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
- โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ไม่ปกติ อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ง่าย จนเกิดเป็นรังแคทางอ้อมได้ เช่น โรคเอดส์ หรือ โรคไทยรอยด์
- โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคได้ทางอ้อม เพราะโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับต่อมไขมัน จนทำให้มีการผลิตน้ำมันมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และทำให้เกิดรังแคได้ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน ฯลฯ
สำหรับโรคที่เกิดร่วมกับรังแคเหล่านี้ ไม่สามารถรักษาเองด้วยการดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรม หรือการใช้แชมพูขจัดรังแคเพียงอย่างเดียวได้ แต่คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาโรคดังกล่าวให้หายดีเสียก่อน จากนั้นอาการรังแคที่หนังศีรษะก็จะดีขึ้นและหายไปได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะผมร่วงที่เกิดจากแผลเป็นจากโรคดังกล่าวได้
หากเกิดอาการผมร่วง ภาวะผมไม่ขึ้นอีกเลยจากแผลเป็น สามารถเข้ารับการปรึกษาและรักษาด้วยวิธีปลูกผมลงในแผลเป็นได้
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
โดยทั่วไปแล้ว รังแคสามารถรักษาให้หายด้วยตัวเองได้ ด้วยการควบคุมความมันบนหนังศีรษะในกรณีที่มีน้ำมันบนหนังศีรษะเยอะ หรือเพิ่มความชุ่มชื่นให้หนังศีรษะในกรณีที่มีผิวหนังศีรษะแห้งจนทำให้เกิดรังแค ด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของตัวยาและสารที่ให้ความชุ่มชื่น รวมไปถึงปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงความเครียด, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหนังศีรษะและเส้นผม และหลีกเลี่ยงสารเคมีที่สัมผัสกับหนังศีรษะโดยตรง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้
หากมีโรคที่อาจเกิดขึ้นกับการเกิดรังแค เช่น โรคผิวหนังอักเสบ, โรคสะเก็ดเงิน, โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาท ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาโรคดังกล่าวให้ถูกวิธีจนหายดี
หรือหากมีอาการเป็นรังแคเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน โดยที่พยายามรักษาด้วยตนเองทุกวิธีแล้ว ทั้งการใช้แชมพูขจัดรังแค รวมไปถึงปรับพฤติกรรมต่าง ๆ แต่อาการเป็นรังแคเรื้อรังไม่ดีขึ้น จนมีหนังศีรษะแดงบวม ควรพบแพทย์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น
แนะนำวิธีขจัดรังแคให้หายขาด
1. การใช้แชมพูขจัดรังแค
การขจัดรังแคและรักษารังแคให้หายขาดสามารถทำได้เอง โดยการเลือกใช้แชมพูขจัดรังแค หลายคนสงสัยว่าเป็นรังแคใช้แชมพูอะไรดี ซึ่งคนไข้สามารถเลือกซื้อแชมพูยาที่ส่วนผสมที่มีคุณสมบัติกำจัดรังแคที่มีวางขายตามท้องตลาดและร้านขายยาทั่วไป ซึ่งสามารถปรึกษากับเภสัชกรประจำร้านยาได้ โดยแชมพูขจัดรังแคจะมีส่วนผสมหลัก ๆ ดังนี้
- ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) ช่วยลดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุของผิวหนังอักเสบและรังแค
- ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ช่วยกำจัดเชื้อราบนหนังศีรษะ กำจัดรังแค
- ซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) ช่วยขจัดสะเก็ดผิวหนังส่วนเกินออก
- น้ำมันดิน (Coal Tar) ช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิวไม่ให้เร็วจนเกินไป
- ไพรอกโทน โอลามีน (Piroctone Olamine) ช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย
- Tea Tree Oil ช่วยควบคุมความมันบนหนังศีรษะ
เมื่อเลือกแชมพูขจัดรังแคได้แล้ว ควรศึกษารายละเอียดข้างผลิตภัณฑ์ คำแนะนำในการใช้ และควรใช้แชมพูขจัดรังแคเป็นประจำต่อเนื่องจนกว่าจะรักษารังแคให้หายขาด แต่ทั้งนี้ ควรใช้แชมพูตามคำแนะนำสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง ไม่ควรใช้มากกว่านี้เพราะอาจทำให้หนังศีรษะแห้งได้
หากเป็นรังแคแห้ง มีหนังศีรษะแห้งอยู่แล้ว ไม่ควรใช้แชมพูขจัดรังแค เพราะตัวยาในแชมพูอาจทำให้หนังศีรษะแห้งมากกว่าเดิม ควรเลือกใช้แชมพูที่มีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื่น หรือแชมพูสูตรอ่อนโยนต่อหนังศีรษะจะดีที่สุด
2. หลีกเลี่ยงการเกาหนังศีรษะแรง ๆ
อาการคันหนังศีรษะมาพร้อมกับอาการของรังแค แต่ไม่ควรเกาหนังศีรษะแรง ๆ เพราะนอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพแล้ว ยังทำให้หนังศีรษะระคายเคือง หนังศีรษะลอก หนังศีรษะอักเสบ จนอาจทำให้เป็นแผล รวมไปถึงอาจทำให้หนังศีรษะถูกทำลายจนส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วงได้
3. รักษาความสะอาดของเส้นผม
การสระผมเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับหนังศีรษะ รวมไปถึงการสระผมที่ไม่บ่อยจนเกินไป ควรสระผมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หากมีอาการรังแคแห้ง หนังศีรษะแห้งขาดน้ำมันหล่อเลี้ยง หนังหัวแห้งเป็นรังแค จึงไม่ควรสระผมบ่อยจนเกินไป และน้ำที่ใช้สระผมควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรใช้น้ำอุ่นสระผมเพราะจะทำให้หนังศีรษะแห้งกว่าเดิม และหลังสระผมควรเป่าผมให้แห้งสนิททุกครั้ง ไม่ปล่อยให้ศีรษะเปียกชื้น
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3, ซิงค์ และวิตามินบี จะช่วยให้ต่อมไขมันทำงานได้เป็นปกติ แต่หากในกรณีที่มีหนังศีรษะมีน้ำมันเยอะอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือกรดไขมัน เพื่อรักษาสมดุลของหนังศีรษะให้เป็นปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดรังแคได้
5. หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดอาจเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเสียสมดุล ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่ดี ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สุขภาพแย่แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจทำงานผิดปกติจากความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้ผิวหนังอักเสบง่ายจนนำไปสู่สาเหตุรังแค หรือทำให้อาการรังแคที่เป็นอยู่ยิ่งแย่ลงได้ ดังนั้น การทำจิตใจให้สดใสเบิกบาน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดรังแครวมไปถึงยังทำให้สุขภาพกายและจิตใจแข็งแรงตามไปด้วย
วิธีป้องกันรังแค
- รักษาความสะอาดของเส้นผมและหนังศีรษะ ไม่ปล่อยให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป และระวังไม่ให้หนังศีรษะมีความมันมากจนเกินไป
- เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่สัมผัสกับหนังศีรษะ เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
- รักษาสมดุลในร่างกาย ด้วยการทาานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ควรออกไปทำกิจกรรมเพื่อโดนแสงแดดเล็กน้อยบ้างเป็นประจำทุกวัน เพราะมีผลการศึกษาพบว่าแสงแดดสามารถช่วยควบคุมการเกิดรังแคได้
ข้อสรุป
ถึงแม้ว่าอาการรังแคจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรงกับสุขภาพร่างกาย แต่ก็สร้างความไม่มั่นใจและทำให้เสียบุคลิกภาพได้จากการเกาหนังศีรษะ รวมถึงมีสะเก็ดรังแคตกลงบนเสื้อผ้า ดังนั้น หากท่านกำลังเผชิญกับปัญหารังแค หนังศีรษะลอก รังแคเยอะ เป็นรังแคหนักมาก หรือรังแคผมร่วงจากหนังศีรษะที่ถูกทำลาย ควรรักษารังแคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรักษารังแคให้หายขาด ด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแค การดูแลหนังศีรษะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุรังแค
โดยหากรักษารังแคด้วยตนเองทุกวิธีแล้ว ยังมีอาการเป็นรังแคเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการอักเสบบวมแดงร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาจเกิดจากโรคผิวหนังบางชนิด หรือเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติอยู่ก็เป็นได้
หากคุณรักษาอาการรังแคด้วยตนเองไม่หาย สามารถส่งรูปปัญหารังแคเข้ามาเพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ Absolute Hair Clinic ประเมินอาการและรับคำปรึกษาได้ที่ Line : @Absolutehairclinic