การจัดฟัน หรือที่เรียกว่า ดัดฟัน เป็นการแก้ไขปัญหาการเรียงตัวและการสบกันของฟัน ซึ่งคนที่กำลังตัดสินใจว่า จะจัดฟันดีหรือไม่ อาจจะต้องการข้อมูลการจัดฟัน รวมถึงมีปัญหาว่าจัดฟันราคาเท่าไร วันนี้ เราในฐานะทันตแพทย์จะมาอธิบายและตอบคำถามที่คาใจให้ฟัง
การจัดฟัน คืออะไร
การจัดฟัน (Orthodontics) เป็นการวิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนป้องกันรักษาความผิดปกติของการเรียงฟันและการสบฟัน รวมทั้งปัญหาความผิดปกติของขนาดและความสัมพันธ์ของขากรรไกรต่อใบหน้า เป็นการรักษาเพื่อให้มีการสบฟันที่ดีขึ้น
ดังนั้น การจัดฟันจะช่วยให้บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือกอันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือก ในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเกิดรอยสึกของฟันจากการเรียงฟันหรือการสบฟันที่ไม่เหมาะสม และช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟันเรียงกันสวยงาม
รูปแบบการจัดฟัน
การจัดฟันเป็นการรักษาความผิดปกติของการเรียงฟันและการสบฟัน ดังนั้น แต่ละคนจึงมีความผิดปกติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น วิธีการรักษาอย่างการจัดฟันจึงต้องมีหลายรูปแบบ เพื่อสามารถรักษาแต่ละคนได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- การจัดฟันแบบติดเครื่องมือ: เป็นวิธีจัดฟันที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย เป็นการติดเครื่องมือจัดฟันหรือที่เรียกว่าแบร็คเก็ตลงบนตัวฟัน และใช้ลวดในการยึดกับเครื่องมือจัดฟันเพื่อปรับการเรียงตัวแก้ไขปัญหาของฟัน
- การจัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ: เป็นการจัดฟันแบบถอดได้ ไม่ต้องติดเครื่องมือบนผิวฟัน และคนไข้สามารถถอดเข้าออกได้ สามารถทำความสะอาดช่องปากได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่า เครื่องมืดจะหลุด
ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ ก็ประกอบด้วยเครื่องมือจัดฟันอีกหลากหลายรูปแบบที่แพทย์และคนไข้สามารถเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการได้อีก 4 แบบดังนี้
1. จัดฟันแบบโลหะ
การจัดฟันแบบโลหะ ธรรมดา (Bracket Brace) หรือ การจัดฟันแบบโลหะ หรือ การจัดฟันแบบเหล็ก (Metal Braces) เป็นการจัดฟันโดยการติดเครื่องมือแบบโลหะไว้ที่ผิวด้านหน้าของฟัน ใส่ลวดผ่านร่อง Bracket และใช้ยางโอริง (O-ring) สีสันสดใสรัดตัวเครื่องมือจัดฟันให้ติดกับลวดจัดฟัน
ถือว่าเป็นการจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เหมาะกับนักเรียน นักศึกษา ที่มีงบประมาณจำกัด และเป็นผู้ที่มีเวลา สามารถเข้ามาพบทันตแพทย์ได้บ่อย ๆ เพราะแพทย์จะทำการปรับเครื่องมือทุก ๆ เดือน เพื่อให้ฟันเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่เหมาะ
เป็นการจัดฟันที่สามารถใช้ได้ในทุกรูปแบบ สามารถทำความสะอาดได้ง่าย สะดวกขึ้น มีราคาค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าแบบอื่น ๆ รวมไปถึงสีสันของยางโอริงที่มีให้เลือกใช้ได้อย่างหลากหลายอีกด้วย และมีระยะเวลาในการจัดฟัน 2 ปีขึ้นไป
2. จัดฟันแบบเซรามิก
การจัดฟันเซรามิก (Ceramic) เป็นการจัดฟันแบบติดเครื่องมือคล้าย ๆ กับแบบโลหะ แต่ใช้วัสดุแบบเซรามิกใสยึดติดกับผิวฟันด้านหน้า แล้วใส่ลวดผ่านร่อง Bracket และใช้ยางแบบใสรัดเครื่องมือจัดฟันให้ติดกับลวดจัดฟัน เพื่อช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนตัวของฟัน มีสีใกล้เคียงกับสีฟัน ทำให้ฟันเรียงตัวสวย
กล่าวได้ว่า การจัดฟันเซรามิก คือ การดัดฟันแบบสีเหมือนฟัน เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจัดฟัน แต่ไม่อยากให้ผู้อื่นสังเกตเห็นชัดเจน เนื่องจากมีหน้าที่และบุคลิกในการทำงาน คนไข้ต้องมาปรับเครื่องมือจัดฟันทุก ๆ 1 เดือน ใช้ระยะเวลาการจัดฟัน 2 ปีขึ้นไป
3. จัดฟันแบบดามอน
การจัดฟันแบบดามอน (Damon System) เป็นนวัตกรรมจัดฟันสมัยใหม่ ที่มีจุดเด่นในเรื่องการทำงานของเครื่องมือจัดฟัน ไม่ต้องใช้ยางรัด มีประสิทธิภาพสูง มีกลไกการบานพับขนาดเล็กที่ยึดกับลวดอย่างหลวม ๆ ลดแรงเสียดทาน เพื่อดึงให้ฟันเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ออกแบบมาให้คนไข้มีความรู้สึกสบาย และเจ็บน้อยลง
จะเห็นได้ว่า การจัดฟันแบบดามอน คือ การจัดฟันแบบที่ไม่ต้องใช้ยาง แทบไม่ต้องถอนฟันออกสักซี่ แถมฟันเคลื่อนที่ไว จึงลดระยะเวลาในการจัดฟันให้น้อยลง และตอนปรับเครื่องมือยังเจ็บน้อยกว่า เมื่อเทียบกับแบบโลหะ เรียกได้ว่า ฟันสวยเร็วขึ้น แต่เจ็บน้อยลงนั่นเอง แล้วยังไม่ต้องมาพบแพทย์ทุกเดือนอีกด้วย
4. จัดฟันแบบใส
การจัดฟันแบบใส (Invisalign) เป็นการจัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ ซึ่งออกแบบตามรูปฟันของแต่ละคนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยการใช้เครื่องมือจัดฟันที่เป็นแผ่นโพลีเมอร์บาง ๆ ใส ๆ มาใส่ครอบบนฟัน เพื่อให้ฟันเคลื่อนไปในตำแหน่งที่ต้องการ สามารถถอดออกได้เมื่อต้องการ และมีความใสจนแทบมองไม่เห็น มีแผนการรักษาที่กำหนดระยะเวลารักษาชัดเจน
เหมาะสำหรับดาราหรือนักธุรกิจที่ต้องใช้หน้าตามีความสวยงามเวลายิ้มหรือพูดคุย และมีความน่าเชื่อถือ เพราะสามารถจัดฟันได้ โดยไม่ต้องใส่เหล็กดัดฟัน สามารถพูดหรือออกเสียงได้อย่างชัดเจน รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีเวลา อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เพราะไม่ต้องมาพบทันตแพทย์บ่อย
โดยระยะเวลาการจัดฟันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 เดือน – 2 ปีขึ้นไป แต่คนไข้ก็ต้องมีวินัยในการใส่แผ่นใส Invisalign คือ 1 วันต้องใส่ 22 ชั่วโมง สามารถถอดออกได้เฉพาะตอนรับประทานอาหารและตอนแปรงฟันเท่านั้น
ลักษณะฟันที่ควรจัดฟัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราควรจะจัดฟัน เราต้องดูจากลักษณะฟันของเราว่า มีลักษณะที่ผิดปกติ หรือการเรียงตัวที่มีปัญหา หรือตำแหน่งกัดสบไม่เหมาะสมหรือไม่ ตามลักษณะต่อไปนี้
- ฟันเรียงตัวบิดเอียง คือ ฟันมีการเรียงตัวผิดตำแหน่ง
- ฟันบนยื่น (Overbite) คือ ฟันหน้าบนยื่นออกมาข้างหน้ามากจนเกินไป มักเกิดจากปัญหาการเรียงตัวของฟันหรือแนวกราม ทำให้คร่อมฟันหน้าล่างมากเกินไป
- ฟันล่างยื่น (Underbite) คือ ฟันหน้าล่างยื่นออกมาข้างหน้ามากจนเกินไป จะคล้ายกับแบบแรกแต่เป็นชุดฟันล่างที่ล้ำมาข้างหน้าแทบทั้งแถว
- ฟันกัดคร่อม (Crossbite) เมื่อกัดฟันพบว่า ฟันบนไม่สามารถขบได้พอดีกับฟันล่าง มีลักษณะขบแบบไขว้ สลับกันไปมา ไม่สมดุล ทำให้การขบเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มปากเต็มคำ
- ฟันสบเปิด (Open bite) เมื่อขบฟันแล้วมีช่องว่างเปิดระหว่างฟันบนกับฟันล่างมากเกินไป มาจากการดูดนิ้วตอนเด็ก ๆ การกลืนที่ผิดปกติ (ลิ้นดันฟันหน้าบนขณะกลืน)
- ฟันกัดเบี้ยว (Misplaced midline) จุดศูนย์กลางของฟันบนไม่ตรงกับฟันล่าง หรือเรียกว่า Midline ไม่ตรง ส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากพอ
- ฟันห่าง (Spacing) คือ มีช่องว่างระหว่างฟันที่เกิดจากฟันหลุดหรือฟันที่ขึ้นไม่เต็ม หรือฟันซี่เล็กที่อาจเกิดจากพันธุกรรม รวมถึงอาจเคยมีการถอนฟัน หรือไม่มีฟันบางซี่มาแต่กำเนิด
- ฟันซ้อนเก (Crowding) คือ ฟันที่ขึ้นมามากเกินไปจนเกทับกัน ด้วยช่องว่างไม่พอกับขนาดของฟัน ทำให้ฟันขึ้นเบียดซ้อนเพื่อแย่งพื้นที่กัน สมควรที่ต้องถอนซี่ส่วนเกิน และจัดฟันใหม่ให้เข้าที่
Header Tag 2 : สาเหตุของปัญหาการเรียงตัวของฟัน
เมื่อทราบลักษณะของฟันที่ควรจะได้รับการจัดฟันไปแล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่าความผิดปกติเหล่านี้ เกิดมาจากอะไรบ้าง เราสามารถป้องกันได้หรือไม่ เรามาดูกัน
- กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด เป็นกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่กำหนดการเรียงตัวของฟันตั้งแต่กำเนิด โดยมีผลต่อขนาด รูปร่างและความสัมพันธ์ระหว่างขากรรไกร ขนาดของฟันใหญ่หรือเล็กในแต่ละบุคคล รวมถึงฟันยื่นและฟันซ้อนเก
- จำนวนซี่ฟันที่เกินหรือหายไป จำนวนของฟันเองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การเรียงตัวผิดปกติได้ เพราะถ้าหากขาดหายไป ไม่ว่าจากการถอนฟันหรืออุบัติเหตุ ก็อาจทำให้ฟันที่เหลืออยู่ขาดสมดุล เกิดล้มหรือเอียงได้ แต่ถ้ามีฟันเกินกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดการเบียดอยู่ในช่องปาก ทำให้เรียงตัวไม่สวยงาม
- นิสัยบางอย่างที่มีผลต่อฟัน เช่น การดูดนิ้ว กัดเล็บ การกลืนโดยเอาลิ้นดุนฟัน การหายใจทางปาก อาจทำให้ฟันห่าง ฟันยื่น หรือการถอนฟันน้ำนมก่อนเวลาที่สมควร ก็ล้วนแต่ส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันทั้งสิ้น
ก่อนจัดฟันควรรู้อะไร
เมื่อตัดสินใจแล้วว่า ต้องการจัดฟัน สำหรับคนที่เข้ารับการจัดฟันครั้งแรก มีหลายอย่างที่ต้องศึกษาให้ดี เริ่มตั้งแต่เลือกทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ช่วยวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ทั้งความจำเป็นในการถอนฟัน รูปแบบการจัดฟัน และปัจจัยภายในตนเอง เช่น ความถี่ในการเข้าพบแพทย์ ความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ โดยเฉพาะราคาจัดฟันครั้งแรกที่เราจะต้องเตรียมพร้อมไว้
ขั้นตอนการจัดฟัน
เมื่อเราพร้อมแล้วที่จะจัดฟัน เราก็ต้องรู้ขั้นตอนการจัดฟันก่อนว่า เราจะต้องเจออะไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวและพร้อมปฏิบัติตามได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเริ่มจาก
1. พบทันตแพทย์และเอกซเรย์
เข้าพบและปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันโดยตรง เพื่อทำการตรวจรูปหน้า โครงสร้างกระดูกขากรรไกรและฟัน พร้อมทั้งซักประวัติ เช่น มีโรคประจำ ประวัติการแพ้ยา หรือยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามีหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
จากนั้น ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดฟันในแต่ละวิธีให้ทราบ เพื่อให้คนไข้เลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง แล้วทันตแพทย์จะแจ้งแผนการรักษาคร่าว ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา และทำการพิมพ์ปาก สร้างแบบจำลองฟัน
แล้วจึงให้คนไข้ทำการพิมพ์ฟัน และ x-ray เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัย ประเมินฟัน กระดูกขากรรไกรบนและล่าง ดูการสบของฟัน และออกแบบการจัดฟันเพื่อให้เข้ารูปสวยงาม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การเคลียร์ช่องปาก
การเคลียร์ช่องปาก คือ การเตรียมให้ช่องปากของเราพร้อมที่จะจัดฟัน โดยทันตแพทย์ต้องเช็กสุขภาพในช่องปากก่อนเริ่มการจัดฟัน ได้แก่ การอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด เป็นต้น เพราะถ้าได้ติดเครื่องมือจัดฟันไปแล้ว แล้วต้องทำการอุดฟัน หรือทำการรักษาฟันใด ๆ จะทำให้การรักษานั้นยุ่งยาก เสียเวลา และคนไข้เจ็บตัวมากกว่าเดิม
3. การติดและปรับเครื่องมือ
สำหรับการติดและปรับเครื่องมือ จะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
- จัดฟันแบบติดเครื่องมือ เมื่อทันตแพทย์ทำการติดเครื่องมือแล้ว จะมีการนัดหมายเพื่อปรับเครื่องมือทุก ๆ 1 – 2 เดือน ตามประเภทเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเจ็บบ้างเล็กน้อย
- จัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ หรือจัดฟันใส ทันตแพทย์จะนัดใส่เครื่องมือจัดฟัน พร้อมแนะนำวิธีการดูแลระหว่างใส่ โดยนัดเปลี่ยนชุดเครื่องมือตามแผนที่วางไว้ และคนไข้ควรจะต้องมาให้ตรงตามนัด เพื่อให้แผนการรักษาไม่คลาดเคลื่อน
4. การทำรีเทนเนอร์
เมื่อแผนการจัดฟันเป็นไปตามที่วางไว้ แพทย์ก็จะนัดถอดเครื่องมือ และจะให้ใส่รีเทนเนอร์ต่อ แนะนำคนไข้จะต้องใส่ต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฟันคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องสวยงามตลอดไป โดยแพทย์จะติดตามผลการใส่รีเทนเนอร์ทุก ๆ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุก ๆ 1 ปี
เตรียมตัวก่อนการจัดฟัน
เมื่อเราทราบขั้นตอนการจัดฟันกันไปแล้ว ทีนี้ เราลองมาดูว่า เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดฟัน
- นัดหมายทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน เพราะโดยปกติ ทันตแพทย์มักจะมีนัดที่ค่อนข้างแน่น ดังนั้น เราจึงควรทำการนัดหมาย เลือกในช่วงเวลาที่เราสะดวกสามารถจัดฟันได้อย่างไม่มีปัญหา
- ศึกษารายละเอียดการจัดฟัน เลือกแบบที่คิดว่าเหมาะกับตนเองโดยคร่าว ๆ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ไวขึ้น
- เมื่อเลือกแบบที่ต้องการได้แล้ว ก็พิจารณารายละเอียดการจัดฟันค่าใช้จ่าย ว่า การจัดฟันราคาครั้งแรกเท่าใด หรือจัดฟันราคาทั้งหมดเป็นเท่าใด เพื่อให้สามารถวางแผนการค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง
ระยะเวลาในการจัดฟัน
ระยะเวลาในการจัดฟัน จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ เช่น อายุของคนไข้ การปฏิบัติตามคำแนะนำ การดูแลรักษา การมาพบแพทย์ตามนัด และสภาพปัญหาของฟันของแต่ละคน และทันตแพทย์ผู้รักษา ในด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่เท่ากัน ก็อาจจะทำให้การจัดฟันไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และทำให้ใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น
ดูแลตัวเองในช่วงจัดฟัน
เมื่อเราจัดฟันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็ควรที่จะต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในการจัดฟัน
- ควรเลือกใช้แปรงสีจัดฟันโดยเฉพาะ และแปรงฟันอย่างน้อย 3 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร
- เลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ ช่วยป้องกันฟันผุ
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี และทำอย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นตรวจเช็กช่องปากและฟันผุทุก 6 เดือน แนะนำให้ขูดหินปูนร่วมด้วย
- เข้าพบทันตแพทย์ตามเวลาที่นัดหมาย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการรักษา
คำถามที่พบบ่อย
หลาย ๆ คนอาจจะมีคำถามคาใจเกี่ยวกับการจัดฟัน เราจึงขอรวบรวมคำถามเหล่านี้ มาตอบ เพื่อให้คุณได้ทราบและสบายใจ ถ้าหากจะต้องตัดสินใจว่าจะจัดฟันดีหรือไม่
จัดฟันครั้งแรกต้องทำอย่างไร
ต้องศึกษารายละเอียดการจัดฟันให้ดี เช่น เลือกทันตแพทย์เฉพาะทาง พิจารณาแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ขั้นตอนการจัดฟัน ราคาจัดฟัน คลินิกจัดฟันใกล้ฉัน และเตรียมตัวให้พร้อมตามคำแนะนำต่าง ๆ
เคลียร์ช่องปากคืออะไร
การเคลียร์ช่องปาก คือ การเตรียมให้ช่องปากของเราพร้อมที่จะจัดฟัน โดยทันตแพทย์ต้องเช็กสุขภาพในช่องปากก่อนเริ่มการจัดฟัน ได้แก่ การอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด เป็นต้น
จัดฟันใช้เวลากี่ปี
การจัดฟันจะใช้ระยะเวลา 2 – 3 ปีตั้งแต่เริ่มต้นจนถอดเครื่องมือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนฟันของตัวคนไข้และวินัยในการมาพบทันตแพทย์
จัดฟันจะปวดไหม ปวดนานกี่วัน
หากจัดฟันครั้งแรกย่อมมีอาการเจ็บปวดแน่นอน แต่อยู่ในระดับที่ทนได้ ส่วนระยะเวลาในการปวดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน บางคนก็อาจจะปวดเพียงแค่ 2 – 3 วันก็หายแล้ว แต่ถ้าเป็นขั้นตอนปรับเครื่องมือ ก็อาจรู้สึกเจ็บหรืออาจจะแค่รู้สึกตึง ๆ ในช่องปากได้
จัดฟันแล้วทานอาหารอะไรได้บ้าง
การจัดฟันทำให้มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารค่อนข้างมาก ดังนั้น เราจึงควรต้องระมัดระวังในการเลือกอาหารดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารหนัก ที่มีความแข็งและเหนียว เช่น น้ำแข็ง ถั่ว ข้าวโพดคั่ว คาราเมล หมากฝรั่ง ลูกอม ผลไม้เนื้อแข็ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องกัด แทะ เช่น กระดูกหมู ซี่โครงไก่ ปลาหมึกย่าง รวมถึงการการใช้ฟันงัดกับของแข็ง ๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เพราะน้ำตาลและกรดค้างอยู่ในเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งสามารถทำลายกาวที่ยึด Bracket ได้
- ควรรับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น เต้าหู โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น
- ควรทานอาหารอ่อน ๆ เคี้ยวง่าย ๆ เช่น ข้าวต้ม เต้าหู้
จัดฟันแบบไม่ถอนฟันได้หรือเปล่า
ในการจัดฟัน ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยว่า คนไข้ควรจะถอนหรือไม่ถอนฟัน โดยพิจารณาจากโครงสร้างฟันของแต่ละบุคคล ซึ่งก็มีทั้งในกรณีที่ถอนฟันและไม่ถอนฟัน
อายุเท่าไหร่ถึงจัดฟันได้
การจัดฟันสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงอายุประมาณ 10 – 14 ปี เนื่องจากร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างใบหน้ามากที่สุด
จัดฟันแล้วหน้าเรียว หน้าเปลี่ยนไหม
การจัดฟันเป็นการรักษาความผิดปกติของฟัน เพื่อให้มีการเรียงฟันที่สวยงามและเหมาะสม ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้บางคนมีรูปหน้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย บางคนหน้าก็อาจจะเล็กลง คางยาวขึ้นก็ได้
จัดฟันแล้วสามารถทำจมูกได้หรือไม่
สามารถทำได้ เพราะเป็นการรักษาคนละส่วนกัน เพียงแต่จะต้องเว้นระยะเวลาในการทำแต่ละส่วน เช่น
- จัดฟันก่อน เสริมจมูกทีหลัง : ต้องรอให้ฟันเข้าที่อย่างน้อย 2 – 3 เดือน จึงจะเสริมจมูกได้
- เสริมจมูกก่อน จัดฟันทีหลัง : ต้องรอ 1 – 2 เดือน หรือรอจนกว่าแผลจะแห้ง จึงจะจัดฟันได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าแผลสมานดีแล้ว สามารถอ้าปากได้กว้าง เพื่อติดเครื่องมือจัดฟันได้ โดยไม่กระทบกับแผลบริเวณจมูก
ทั้งนี้ ควรจะปรึกษากับศัลยแพทย์และทันตแพทย์ให้ดีเสียก่อน เพื่อความสบายใจของตัวเองและเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
สรุปเกี่ยวกับการจัดฟัน
การจัดฟันเป็นการรักษาความผิดปกติของการเรียงฟันและการสบฟัน เพื่อช่วยให้บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจมากขึ้น โดยในปัจจุบัน การจัดฟันมีหลากหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีขั้นตอนการจัดฟันและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรศึกษาข้อมูลและเข้าปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมมากที่สุด