สิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน ก็ คือ ปัจจัยสี่ ซึ่งประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค โดยบทความที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของยารักษาโรคชนิดหนึ่งที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จัก นั่นคือ ยาพารา
ยาพาราหรือที่เรียกกันเต็ม ๆ ว่า “ยาพาราเซตามอล” จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ควรค่าให้ทุก ๆ บ้านมีเก็บไว้ในตู้ยาที่พร้อมนำมากินตอนไหนก็ได้เมื่อมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อาการปวดเมื่อย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทุกครั้ง
ยาพาราเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ เช่น ร้าน 7-Eleven และร้านขายยาทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ส่วนสรรพคุณของยาพาราก็คือเป็นยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ และอาการตัวร้อน เป็นต้น
ยาพาราเซตามอลช่วยรักษาอาการอะไรได้บ้าง ?
สรรพคุณของยาพาราเซตามอล สามารถสรุปออกได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ลดไข้ ตัวร้อนที่เกิดจากหวัด ภูมิแพ้ อากาศเปลี่ยนแปลง
- ลดอาการปวดแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดฟัน ปวดประจำเดือน หรือแม้แต่อาการปวดจากโรคข้ออักเสบชนิดไม่รุนแรงด้วย
- สรรพคุณยาพาราที่ทำให้มันโดดเด่นเด่นกว่ายาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ก็คือไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหารเลย
วิธีการใช้ยาพาราให้ปลอดภัย
ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนเราพึงระวังเป็นอย่างมากก่อนที่จะกินลงไปก็คือการเรียนรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและวิธีใช้ของตัวยานั้น ๆ เพราะยาทุกตัวล้วนมีข้อควรระวังการใช้งาน ยาบางประเภทก็มีผลข้างเคียงบ้างไม่มากก็น้อย
สำหรับยาพาราก็เช่นเดียวกัน ควรเรียนรู้วิธีกินยาพาราที่ถูกต้องด้วยการใช้ตามคำแนะนำบนฉลากยา หรือใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อที่ยาพาราจะได้ออกฤทธิ์เต็มสรรพคุณ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย
โดยวิธีกินยาพารา มีรายละเอียดอยู่ด้วยกัน ดังนี้
ไม่ควรกินยาพาราเกินวันละกี่เม็ด
วิธีกินยาพาราสามารถกินก่อนหรือหลังอาหาร หรือกินพร้อมมื้ออาหารก็ได้ แต่ไม่ควรกินยาเกินขนาดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง และสำหรับคำถามที่ว่ายาพารากินกี่เม็ดดีนั้น คำตอบก็คือให้กินยาพาราตามน้ำหนักตัว เช่น
- น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก็ควรใช้ขนาดยา 10-15 มก.ต่อ 1 ครั้ง ดังนั้นสำหรับยาพารา 500 mg ต่อ 1 เม็ดนั้น สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมให้กินยาพาราเป็นจำนวน 1 ถึง 1 เม็ดครึ่งต่อครั้ง
- สำหรับผู้ใหญ่ ปริมาณยาพาราสูงสุดที่กินได้คือ 1000 mg หรือ 2 เม็ดต่อโดสต่อครั้ง แต่ไม่เกิน 4000 mg หรือ 8 เม็ดต่อวัน โดยควรกินเว้นระยะห่างกันทุก ๆ 4 ชั่วโมง
- ต้องกินยาพาราให้ตรงเวลาทุกครั้ง และควรดื่มน้ำตาม 1 แก้วหลังกินยาไม่ควรกินยาพาราติดต่อกันเกิน 5-10 วันยกเว้นจะได้ปรึกษาแพทย์แล้ว
ยาพาราเซตามอลสรรพคุณ
สรรพคุณของยาพารา ก็คือ ลดไข้ ตัวร้อนที่เกิดจากหวัด ภูมิแพ้ อากาศเปลี่ยนแปลง และอาการปวดแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดฟัน ปวดประจำเดือน หรือแม้แต่อาการปวดจากโรคข้ออักเสบชนิดไม่รุนแรงด้วย นอกจากนี้สรรพคุณยาพาราที่เด่นกว่ายาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ก็คือไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหารเลย
ยาพารายี่ห้อไหนดี
ยาพาราทุกยี่ห้อที่อยู่ในท้องตลาดนั้น ล้วนมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ หาซื้อได้ง่าย ปลอดภัย หากใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งยาพาราเซตามอล เป็นชื่อสามัญ ที่มีสรรพคุณเหมือนกัน แต่ก็มีผู้ผลิตหลายยี่ห้อ ตัวอย่างเช่น บาคามอล (Bakamol), ซีมอล (Cemol), พานาดอล (Panadol), ซาร่า (Sara), ไทลินอล (Tylenol), ยาพาราเซต (Paracet) ฯลฯ
ดังนั้นการเลือกใช้ยี่ห้อไหนก็ขึ้นกับความสะดวกในการซื้อหา และอาจพิจารณาเลือกยาพาราจากบริษัทผู้ผลิตที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และส่วนใหญ่ยาพาราเซตามอลราคาจะใกล้เคียงกัน
วิธีกินยาพาราสำหรับเด็ก
ปริมาณยาพาราสำหรับเด็กย่อมน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นปริมาณยาพาราสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ควรเป็นดังนี้
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน กินยาพารา 10-15 มก.ต่อครั้ง ให้กินทุก 6-8 ชั่วโมงจนไข้ลด
- เด็กอายุ 1 เดือนถึง 12 ปี กินยาพารา 10-15 มก.ต่อครั้ง ให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง.จนไข้ลด แต่ไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อ 1 วัน
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป กินยาพารา 325-650 มก.ต่อครั้ง ให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง หรือกินยาพารา 1000 มก.ต่อครั้ง ทุก 6-8 ชั่วโมง
- ไม่ควรกินยาพาราติดต่อกันเกิน 3-5 วัน
ปกติแล้วสำหรับเด็กเล็กนั้นจะให้เป็นยาพาราชนิดน้ำ อย่างไรก็ตามเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีควรให้ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ เพราะจะส่งผลต่อตับ แนะนำให้ใช้วิธีปฐมพยาบาลอื่น ๆ เช่น เช็ดตัวเพื่อลดไข้ก่อน
กินยาพาราเยอะ ผลข้างเคียง
การรับประทานยาพาราเกินขนาดอาจก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่าง ๆ ดังนี้
- อาจส่งผลกระทบต่อตับ เนื่องจากตับทำงานหนัก
- อาจเกิดอาการแพ้ยาสำหรับบางคน เช่น หน้าบวมบริเวณเปลือกตา ริมฝีปาก, เป็นลมพิษ, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นผื่นแดง มีตุ่มพอง, มีจ้ำตามผิวหนัง, เหนื่อยง่าย
- มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น
หากพบว่ามีอาการดังกล่าวตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรหยุดยาและเข้าพบแพทย์ทันที
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาพารา
ยาพาราออกฤทธิ์ภายในกี่นาที
ปกติแล้วยาพาราจะไม่ออกฤทธิ์ในทันที แต่ใช้เวลาประมาณ 10-30 นาทีหลังจากกินยา และจะยังมีฤทธิ์ต่อเนื่องไปได้ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นในระหว่างที่รอให้ยาออกฤทธิ์ให้ใช้วิธีการปฐมพยาบาลแบบอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น เช็ดตัวเพื่อลดไข้ หรือ ประคบร้อนเย็นเพื่อลดอาการปวดต่าง ๆ ที่มี
แต่ข้อควรระวังและไม่ควรกินยาพาราหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน คือ หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร, คนดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสามแก้ว, คนเป็นโรคตับ โรคไต, คนที่กำลังกินยาแก้ไอ แก้หวัด แก้ภูมิแพ้ หรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ที่มียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการกินยาพาราเกินขนาดได้
สิ่งสุดท้ายที่ควรระวังคือ ยาพาราเป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการ ไม่ใช่ยาป้องกันการป่วยไข้ จึงไม่ควรกินหากไม่มีอาการป่วยไข้ เพราะอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้
เก็บยาพาราอย่างไรให้ถูกวิธี
การเก็บรักษายาพาราให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ในเวลาป่วยไข้ ก็คือ
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่ 30 องศาเซลเซียส ให้พ้นแสงแดด ความร้อน ความชื้น เพื่อไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ
- ยาพาราควรอยู่ในกระปุกยา หรือในแผงยาที่ปิดสนิท มิดชิด
- ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
- สำหรับยาพาราแบบน้ำ เมื่อใช้แล้วควรปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
สรุปยาพารา
ยาพารานับได้ว่าเป็นยาแก้ปวดสารพัดนึกที่อยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น แต่สำหรับอาการปวดระดับรุนแรง, อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ครั้ง หรือ อาการปวดที่มีลักษณะแปลก ๆ ที่เกี่ยวกับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้องแทนการกินยาพาราเป็นระยะเวลานาน ๆ ที่อาจส่งผลให้ตับ ไต วายเฉียบพลันได้