
อาการวิกตกกังวลอาจดูความรู้สึกปกติที่พบได้ในคนทั่วไป เมื่อมีความรู้สึกกังวลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่รู้ไหมว่า โรควิตกกังวลนั้นรุนแรงกว่านั้น โรควิตกกังวลอาการของมันรุนแรงมากกว่าอาการวิตกกังวลทั่ว ๆ ไป ความรุนแรงของมันส่งผลกระทบทั้งร่างกาย และจิตใจมากกว่าที่คุณคิด ในบทความนี้เราจะมาศึกษากันว่าโรควิตกกังวล มีสาเหตุจากไหน มีอาการเป็นอย่างไร และการรักษาโรควิตกกังวลสามารถทำอย่างไร
โรควิตกกังวล คืออะไร
โรควิตกกังวล หรือ โรค anxiety คือ โรคที่มีสาเหตุจากสภาวะทางอารมณ์ในทางลบ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียด ความกระวนกระวายใจ ความวิกตกกังวล และความรู้สึกในเชิงลบต่าง ๆ ที่ทำให้จิตใจไม่สงบ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะไปกระทบการดำเนินกิจวัตรประจำวัน โดยอาการเครียดวิตกกังวลนั้นมีอยู่หลายระดับ อาการและความรุนแรงก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระดับ
1. ระดับต่ำ (Mild)
เป็นอาการวิตกกังวลเครียดที่เกิดได้ทั่วไป อาการวิตกกังวลในระดับนี้ไม่สามารถเรียกว่าเป็นโรควิตกกังวลได้ โดยอาการในระดับนี้จะช่วยสร้างความตื่นตัว ทำให้มีสมาธิ สามารถจดจ่อได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความวิตกกังวลในปัญหา และต้องการเอาชนะ หรือก้าวข้ามปัญหาให้ได้
2. ระดับปานกลาง (Moderate)
สำหรับอาการวิตกกังวลในระดับนี้ เริ่มส่งผลในทางลบ ทำให้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทื่อ การรับรู้แคบลง มีอาการผิดปกติของร่างกายเล็กน้อย เช่น หายใจแรง ปวดท้อง หรือปวดหัว โดยระดับความรุนแรงปานกลาง เจ้าตัวยังสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
3. ระดับรุนแรง (Severe)
เช่นเดียวกับอาการวิตกกังวลระดับปานกลาง อาการระดับนี้ส่งผลในทางลบกับร่างกาย และจิตใจ ซ้ำยังรุนแรงมากกว่าระดับปานกลาง โดยจะมีอาการเหล่านี้เพิ่มมา คือ หงุดหงิด โมโหง่าย กระวนกระสาย ตัวสั่น ร่างกายมีอาการเกร็ง และทำให้นอนไม่หลับ โรควิตกกังวลระดับนี้ผู้ที่เป็นต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง
4. ระดับรุนแรงมาก (Panic)
ระดับสุดท้าย หรือระดับรุนแรงมาก เป็นโรควิตกกังวลที่ผู้ที่เป็นไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อเจอสิ่งที่ทำให้เครียด หรือกลัวอย่างรุนแรง อาจมีอาการหมดสติ กรีดร้อง หรือวิ่งหนี โดยบุคคลที่มีโรควิตกกังวลในระดับนี้จะเสียความเป็นตัวเอง เมื่อเจอสิ่งที่กลัว ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
โรควิตกกังวล มีอาการอย่างไร

สำหรับคนที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ หรือแค่เป็นวิตกกังวลอาการทั่วไป สามารถสังเกตได้จากอาการ โดยอาการโรควิตกกังวล มีรายละเอียด ดังนี้
- พฤติกรรม : จะแสดงออกทั้งสีหน้า ท่าทาง คำพูด ยกตัวอย่างเช่น กำมือแน่น, พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ, พูดเร็ว, กระสับกระส่าย และมักจะเคลื่อนไหวโดยไม่มีจุดหมาย
- อารมณ์ : ฉุนเฉียว โมโห ถูกกระตุ้นได้ง่าย สามารถโมโหกับเรื่องเล็กน้อย และรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
- ความคิด สมาธิ : มีความคิดหมกมุ่น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ การตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ทำไม่ได้เฉียบคมอย่างที่ควรเป็น
- การนอน : มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก
- ร่างกาย : หัวใจเต้นเร็ว, เจ็บหน้าอก, เท้าเย็น, ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจมีอาการเบื่ออาหาร
ถ้าเป็นโรคกังวลทั่วไป อย่างมากก็ส่งผลต่ออารมณ์ แต่สำหรับโรควิตกกังวล ในระดับ panic หรือ anxiety อาการจะมีความรุนแรงมากกว่า ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างราบรื่น
โรควิตกกังวล เกิดจากอะไรได้บ้าง
ทีนี้มาดูกันว่า สาเหตุของโรควิตกกังวลนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อให้ทราบได้ว่าการรักษาโรควิตกกังวลด้วยตัวเอง หรือรักษากับแพทย์ เราควรจะเลือกวิธีรักษาวิธีไหน
- สืบต่อกันมาทางพันธุกรรม : หากสมาชิกในครอบครัวมีคนเป็นโรควิตกกังวล ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็น
- การทำงานของเคมีในสมอง : การทำงานของเคมีในสมองมีความผิดปกติ ทำให้เกิดอาการวิตกกังวลขึ้นได้ แม้จะมีสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย
- ความเครียด : ปัญหาความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน หากไม่สามารถแก้ไขได้เป็นเวลานาน และหมกมุ่นคิดแต่ปัญหาดังกล่าวก็จะนำไปสู่อาการเครียดวิตกกังวลที่รุนแรงมากขึ้น
- ประสบการณ์ที่ไม่ดี : ประสบการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง
- สภาพแวดล้อม : สภาพแวดล้อมการทำงานที่กดดัน หรือสภาพแวดล้อมที่คนใกล้ตัวปฏิบัติด้วยไม่ดี
- การใช้สารเสพติดบางชนิด : ยาเสพติด หรือสารเคมีบางประเภท อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลกลัวสิ่งต่าง ๆ แบบไม่มีสาเหตุขึ้นมาได้
ทำยังไงให้หายจากโรควิตกกังวล ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

โรควิตกกังวลนั้นรักษาได้ โดยการจะพิจารณาว่าโรควิตกกังวลรักษาเองได้ไหม ต้องดูก่อนว่าระดับความรุนแรงของโรควิตกกังวลของเรารุนแรงอยู่ในระดับไหน หากระดับที่ไม่รุนแรงก็อาจสามารถทำได้ด้วยการปรับที่พฤติกรรมของตนเอง เปลี่ยนวิธีคิด หากิจกรรมที่ช่วยให้จิตสงบ เช่น การทำสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก, การออกกำลังกาย และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สงบก่อนนอน
อย่างไรก็ตามหากอาการโรควิตกกังวลของเรารุนแรงมาก ก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัด ซึ่งจะมีวิธีการรักษา 2 แบบคือ
- การบำบัดจิตใจ ช่วยผู้ป่วยโรควิตกกังวล ในการจัดระเบียบความคิด ช่วยปรับความคิดเชิงลบให้เป็นความคิดเชิงบวก สร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้ป่วย
- การใช้ยา หากแพทย์ประเมินแล้วว่าสาเหตุของอาการโรควิตกกังวลซึมเศร้าของเรามาจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ก็จะจ่ายยาที่มีผลต่ออาการทางจิตเวช เพื่อช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และมีอารมณ์ที่คงที่มากขึ้น
สามารถป้องกันโรควิตกกังวลได้ไหม
การป้องกันไม่ให้เกิดโรควิตกกังวลนั้นสามารถทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่นั้นสาเหตุของอาการเครียดวิตกกังวลเกิดจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ สารเคมีในสมองทำงานไม่ปกติ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจจะมีเรื่องเครียด เรื่องไม่ดีที่เข้ามา ซึ่งก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ คือ คอยสอดส่องตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการอะไรผิดปกติไหม เช่น นอนหลับเป็นเวลาไหม, มีอาการฉุนเฉียวโกรธง่ายจนควบคุมไม่ได้ไหม และที่สำคัญพยายามนอนหลับให้เพียงพอ และหากิจกรรมที่ช่วยทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ เพื่อให้พร้อมรับในทุกสถานการณ์
โรควิตกกังวล ภาวะอารมณ์ผิดปกติที่อย่ามองข้าม
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น โรควิตกกังวลนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นการหมั่นคอยสังเกตสภาพร่างกายและจิตใจของตนจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เมื่อพบเห็นความผิดปกติ ประเมินความรุนแรง และหาวิธีการรักษาโรควิตกกังวลให้เหมาะสม เพื่อให้มีภาวะอารมณ์ที่คงที่เพื่อการมีชีวิตประจำวันอย่างสดใสร่าเริง