โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) คือ อาการผิดปกติที่เกิดกับรูขุมขน มีอาการอักเสบใต้ผิวหนังทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญ หรืออาจเป็นตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ สามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ส่วนมากมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้ แบ่งได้ตามตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค ดังนี้- โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata AA) นอกจากเกิดที่บริเวณศีรษะแล้ว อาจเกิดได้ที่คิ้ว หนวด หรือขนตามลำตัวเป็นต้น
- โรคผมร่วงทั้งหมด (Alopecia totalis AT) เป็นการที่ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ
- โรคผมและขนร่วงทั้งตัว (Alopecia universalis AU) เป็นอาการที่ผมทั้งศีรษะ และขนตามตัว ร่วงทั้งหมด
ข้อเท็จจริงของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม มักเกิดโดยที่ไม่ทันรู้ตัว เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการใด ๆ เตือนล่วงหน้า และยังสามารถขยายพื้นที่เป็นวงกว้างได้ขึ้นเรื่อย ๆ จนล้านหมดทั้งศีรษะหากรักษาล่าช้า
- โรคผมร่วงเป็นวง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ที่มีผม หรือขนขึ้น เช่น นอกจากศีรษะ ก็อาจเป็นบริเวณอื่น ๆ ตามร่างกาย
- ผมร่วงเป็นวงอาจเกิดจากความเครียดสะสมได้
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจสืบทอดทางพันธุกรรมได้
- โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถหายเองได้ ถ้าอาการไม่รุนแรงเกินไป
- ถ้าหากผมร่วงเป็นกระจุก แล้วลุกลามจนรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงสามารถรักษาได้โดยเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญ
- อาการของโรคผมร่วมเป็นหย่อมนั้น อาจเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลัน หรือ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็ได้
- โรคผมร่วงนั้น เมื่อหายแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้
โรคผมร่วงเป็นหย่อม มีสาเหตุจากอะไร
โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นอาการที่ผมร่วงออกมาเป็นหย่อม ๆ และเกิดแบบเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการบ่งบอกล่วงหน้า แถมบริเวณที่ผมร่วงก็จะไม่มีลักษณะบวมแดง คัน หรือเป็นขุยขาว ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสาเหตุที่ผมร่วงนั้นก็มีได้หลายอย่าง แต่หลัก ๆ มาจากการอักเสบเกิดที่ขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง แต่ก็ไม่ได้ทำลายรูขุมขนลงอย่างถาวร ดังนั้นเมื่อหายจากอาการอักเสบ ผมก็จะหยุดร่วงเช่นกัน สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวงนั้น คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือบกพร่อง จึงไปทำลายรูขุมขนและทำให้เกิดอาการอักเสบใต้ผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ สาเหตุ เช่น- พันธุกรรม มีคนในครอบครัวที่มีศีรษะล้าน
- ความเครียดสะสม ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับผมร่วง
- ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ภาวะตั้งครรภ์ คลอดบุตร วัยหมดประจำเดือน ทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว
- ยาบางชนิด เช่นยารักษามะเร็ง ยารักษาความดันเลือดสูง ยารักษาข้ออักเสบ
- ภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออุบัติเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ ทำให้เป็นแผลเป็นแล้วก่อให้เกิดอาการผมร่วงถาวรได้
- ขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่น ๆ ซึ่งทำให้ผมบางได้
โรคที่มักพบร่วมกับอาการผมร่วงเป็นหย่อม
หากจะกล่าวถึงโรคที่มักจะเจอร่วมกับอาการผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว โดยมากจะไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับผิวหนังอักเสบโดยตรง แต่น่าจะเป็นผลข้างเคียงของโรคนั้น ๆ มากกว่า หรือจะกล่าวโดยรวมก็คือ น่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันโรคผิดปกติ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วไปทำลายรูขุมขนของรากผม จนเกิดการอักเสบ และทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้ โรคที่พูดถึงน่าจะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 , โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ , โรคด่างขาว , โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ , ภาวะลำไส้เป็นแผล , โรคเอสแอลอี , การติดเชื้อไวรัส , ภาวะทางจิต เช่น ซึมเศร้า , โรคของเส้นเลือดและคอลลาเจน , โรคหอบหืด , โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นต้นโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาการเป็นอย่างไร
อาการของคนเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้น อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจเป็นแบบเฉียบพลัน ในบางรายก็ไม่มีอาการใด ๆ เลย บางรายก็อาจมีอาการแสบคันบริเวณผมร่วง ลักษณะร่วงเป็นได้ทั้งรูปวงกลม หรือ วงรี ที่เห็นขอบเขตชัดเจน สามารถเกิดขึ้นเพียงวงเดียวหรือหลาย ๆ วงก็ได้ นอกจากการมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว หรือผมหลุดเป็นกระจุกแล้ว ยังอาจพบได้ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา ฯลฯ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจหายได้เอง หรือเป็น ๆ หาย ๆ แบบเรื้อรัง หรือผมไม่งอกกลับอีกเลยโรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดขึ้นในคนแบบไหนได้บ้าง
โรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ๆ ก็ตาม ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และปัจจัยเสี่ยงที่ร่วมด้วยกับอาการโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวง จะมีดังนี้- คนที่มีความเครียดสะสมอยู่มาก
- คนที่มีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน และมีการร่วงติดต่อกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน
- คนที่มีเล็บมือ เล็บเท้าที่ผิดปกติ เช่นสีเล็บ เนื้อเล็บ ต่างจากคนปกติทั่วไป
- คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว
- คนที่มีกรรมพันธุ์ของคนในครอบครัวที่มีประวัติว่ามีผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวง
การวินิจฉัยผมร่วงเป็นหย่อม
เมื่อพบว่ามีปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม หรือ ผมร่วงเป็นกระจุก ก็ควรพบแพทย์ให้ทำการวินิจฉัยอาการของโรค ซึ่งแน่นอนแพทย์ จะทำการตรวจดูหนังศีรษะตรงบริเวณที่ผมร่วง และตัวอย่างเส้นผมจากบริเวณผมร่วงเช่นกัน การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง ด้วยวิธีดังนี้- ตรวจชิ้นเนื้อหนังศีรษะ ด้วยการนำตัวอย่างผิวหนังไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
- ตรวจเลือด เป็นการตรวจความผิดปกติของระบบภูมคุ้มกัน ด้วยการดูปริมาณสารต่าง ๆ ในเลือด เช่น ปริมาณฮอร์โมน , ปริมาณโปรตีน , ปริมาณธาตุเหล็ก เป็นต้น
ผมร่วงเป็นหย่อม รักษาอย่างไร
โรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้นสามารถรักษาให้หายได้ โดยแก้ไขที่ต้นเหตุ จากนั้นผมก็จะกลับมาขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติภายใน 6-12 เดือน ถ้าโรคนี้เกิดจากความเครียด ก็ให้ลดความเครียดลง หรือถ้าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือบกพร่อง ก็ให้รักษาโรคที่มีอาการร่วมด้วย อย่างเช่น โรคเบาหวาน , โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ เป็นต้น แต่หากว่าผมใหม่ไม่ยอมขึ้นไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาโรคและกระตุ้นให้ผมขึ้นมาใหม่ วิธีการรักษาผมร่วงเป็นหย่อมมีอยู่มากมาย เช่น1. การรักษาทางการแพทย์
- ถ้าเป็นการรักษาที่ระบบภูมิคุ้มกัน ก็อาจต้องใช้วิธีรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน ด้วยการใช้
- อาจใช้วิธีรักษาด้วยการกินยาแก้ผมร่วง แต่ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าควรจะใช้ยาตัวไหน เช่น ยาไฟแนสเตอรายด์ (Finasteride) หรือ ยาไมนอกซิดิวล์ (Minoxidil)
- ใช้วิธีทายากระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณรอยโรค เช่น Topical Diphenyl Cyclo Propenone (TDCP)
- แต่ถ้าหากไม่อยากใช้ยารักษาผมร่วง ก็สามารถใช้เทคนิคกระตุ้นรากผม เพื่อให้ผมกลับมางอกได้ วิธีกระตุ้นรากผมมีอยู่หลายแบบ เช่น เลเซอร์ LLLT , โฟโตน่า เลเซอร์ , ฉีดสเต็มเซลล์ผม , PRP ผม เป็นต้น
2. การรักษาวิธีตามธรรมชาติ
- วิธีแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม (Acupuncture) , สุคนธบำบัด (Aromatherapy) เป็นต้น
- การดูแลผมด้วยทางเลือกอื่น ๆ เช่น กินอาหารเสริมจำพวกวิตามิน หรือสมุนไพร ฯลฯ
- วิธีรักษาให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำหน้าได้ดีที่สุดตามปกติ ก็คือการทำให้ร่างกายแข็งแรง เช่น พักผ่อนเพียงพอ กินอาหารครบห้าหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด
- ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม แบบสูตรป้องกันผมร่วง และไม่มีสารเคมี พร้อมหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนกับเส้นผมโดยตรง
ข้อแตกต่างระหว่างโรคผมร่วงเป็นหย่อม และ ผมร่วงเป็นหย่อมจากเชื้อรา
เราสามารถสังเกตเห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรคผมร่วงเป็นหย่อม และผมร่วงเป็นหย่อมจากเชื้อรา ได้จากอากร สาเหตุ และวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้- โรคผมร่วงเป็นหย่อม ๆ นั้น จะมีผิวหนังที่ดูเป็นปกติ ไม่ปรากฏอาการใด ๆ แสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นอาการแดง อาการคัน ขุย หรือ สะเก็ด เพราะว่าอาการผมร่วงนั้นเกิดจากอาการอักเสบใต้ผิวหนัง และอาจจะไม่ต้องทำอะไรเพื่อการรักษา เนื่องจากโรคนี้สามารถหายได้เอง ถ้าลดความเครียดลงได้ หรืออาจไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง หรือผิดปกติ
- ในขณะที่ผมร่วงเป็นหย่อมที่เกิดจากเชื้อรานั้นจะมีผิวหนังบริเวณที่ผมร่วงที่ดูแดงกว่าปกติ บวม มีขุยสีขาว หรือเป็นสะเก็ดแผล ร่วมกับอาการคันอีกด้วย และโดยมากจะเกิดจากเชื้อรา ที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการอักเสบบนผิวหนัง ในส่วนของการรักษานั้น อาจเป็นการทายาบนหนังศีรษะ หรือกินยาจนกระทั่งเชื้อราหายไปหมด เพราะเชื้อราไม่สามารถหายเองได้
สรุปเรื่องผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่ใช่โรคอันตราย สามารถรักษาให้หายได้ ถึงแม้ว่าสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อจิตใจ และทำให้ขาดความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องปรากฏตัวต่อสายตาของผู้อื่น ดังนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับวินิจฉัยโรค และรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้กลับมาเป็นปกติในเร็ววันThank you for your Vote Rating
[Total: 0 Average: 0]