“เซลล์มะเร็งมีอยู่ในร่างกายทุกคน” เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินวลีนี้ อันที่จริงแล้วทราบหรือไม่ว่ามะเร็งเป็นเซลล์ร่างกายของเรานี่แหละค่ะ แต่เซลล์นั้น ๆ เกิดความผิดปกติทางดีเอ็นเอขึ้นจึงทำให้เซลล์เจริญผิดปกติและพัฒนากลายเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือก็คือมะเร็งนั่นเอง มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับหลาย ๆ อวัยวะ และมะเร็งที่พบได้ค่อนข้างบ่อยสำหรับคนไทยก็คือมะเร็งลำไส้ ถึงจะพบได้บ่อยและอาการของโรคจะไม่ได้มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่หากทราบล่วงหน้าหรือตรวจมะเร็งลำไส้และพบได้เร็วก็มีโอกาสหายขายได้ ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เพื่อป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้นค่ะ
รู้จัก ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’
มะเร็ง หรือเนื้องอกร้าย เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่มีความผิดปกติ เซลล์นั้นจะแบ่งตัวได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งสามารถลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และแพร่กระจายไปในทุกส่วนของร่างกายได้ ในปัจจุบันมีการค้นพบมะเร็งที่ส่งผลต่อมนุษย์มากกว่า 100 ชนิด โดยมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับคนไทยคือ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ส่วนมากผู้ป่วยจะรู้ตัวและตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ต่อเมื่อเริ่มเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายขึ้น เช่น อุจจาระมีเลือดปน มีมูกเลือด ท้องผูก อุจจาระลีบเล็กกว่าปกติ หรือน้ำหนักลดและไม่อยากอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้เมื่อตรวจมะเร็งลำไส้ก็มักจะพบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะหลัง ๆ แล้ว ซึ่งโอกาสหายจากมะเร็งลำไส้น้อย และมีโอกาสเสียชีวิตสูง
สาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ไปทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่มักจะสัมพันธ์กับพันธุกรรมและพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ทานเนื้อสัตว์มากและไม่ทานผักผลไม้ ทานอาหารที่ไหม้เกรียม หรือทานอาหารปิ้งย่างบ่อย รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น ปกติแล้วโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ก็สามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัยเช่นเดียวกันค่ะ
แต่ทราบหรือไม่ว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ (สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง) และเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ (สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติเริ่มแรก) เมื่อตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้เร็ว ก็สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ทำให้หายขายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ค่ะ
อาการสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้
โรคมะเร็งลำไส้เป็นโรคอันตรายที่มักจะแฝงตัวเงียบ ๆ ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่ระยะแรกนั้นแทบจะไม่แสดงอาการสัญญาณเตือนใด ๆ เลย ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลย หรือในบางรายอาจพบแค่ท้องผูกสลับท้องเสียบ่อย ๆ ขนาดของอุจจาระเล็กลงจากปกติ หรืออาจมีการถ่ายเป็นเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจปล่อยปละละเลยไป ไม่เข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้เพราะคิดว่าเป็นอาการปกติ จนโรคมะเร็งลำไส้ได้พัฒนาเข้าสู่ระยะหลัง ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการบ่งชี้ชัดขึ้น ผู้ป่วยอาจคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้อง มีอาการซีด เบื่ออาหารและน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ถึงจะไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างชัดเจน แต่เราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาศเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งเพศชายและหญิงอัตราส่วนพอ ๆ กัน
- พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิด (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้น
- ผู้ที่เคยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ผู้ที่มีระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียเป็นประจำ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะไม่ว่าจะทานเนื้อสัตว์เยอะ ไม่ค่อยทานหรือไม่ทานผักผลไม้ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจมะเร็งลำไส้ ยิ่งพบโรคมะเร็งลำไส้เร็วเท่าไหร่ โอกาสรักษาโรคมะเร็งลำไส้ให้หายก็จะยิ่งมากขึ้นค่ะ
การตรวจมะเร็งลำไส้ (Colonoscopy Cancer Screening)
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็รการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่แนวโน้มการเกิดโรค และระยะแรก ๆ ของโรค ทำให้สามารถวางแผนป้องกันและวางแผนรักษาโรคได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสหายขาดจากโรคและลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ได้ ในปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย รู้ผลได้เร็ว และยังมีวิธีตรวจมะเร็งลำไส้อยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่จะมีความแม่นยำแตกต่างกันไปในแต่ละวิธีค่ะ หรือในบางครั้งอาจมีการใช้การตรวจร่วมกันของแต่ละวิธีเพื่อให้วินิจฉัยผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้นก็ได้เช่นกัน
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีกี่วิธี อะไรบ้าง
วิธีตรวจมะเร็งลำไส้มีหลายวิธี เช่น การตรวจอุจจาระมะเร็งลำไส้ การถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามวิธีตรวจมะเร็งลำไส้ที่เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับจากสมาคมทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ
1. การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ หรือการตรวจอุจจาระมะเร็งลำไส้
- เป็นการตรวจหาเลือดที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระ ในบางครั้งอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระเป็นเวลา 3 วันติดกัน หากในลำไส้ใหญ่มีติ่งเนื้อ แผล หรือเนื้องอกมะเร็ง เวลาถ่ายอุจจาระมักจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงปนมากับอุจจาระได้ หากแพทย์ตรวจพบเลือดในตัวอย่างอุจจาระก็จะนัดผู้ป่วยมาตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อหาความผิดปกติและยืนยันผลอีกครั้ง
- เป็นวิธีตรวจมะเร็งลำไส้ที่ทำได้ง่าย ได้ผลตรวจไว เป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เบื้องต้น
- ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่เจ็บตัวเนื่องจากแค่ส่งตัวอย่างอุจจาระเท่านั้น และค่าตรวจมะเร็งลําไส้ไม่แพง
- ข้อเสียของวิธีนี้คือความแม่นยำน้อย ในบางครั้งอาจตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่พบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไข้จะไม่ได้เริ่มมีอาการของโรค จึงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีนี้ทุกปี
- ในปัจจุบันมีวิธีตรวจมะเร็งลําไส้ด้วยตัวเองได้โดยใช้ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง (One Step Fecal Occult Blood Test) โดยหลักการของชุดตรวจนี้คือการตรวจหาเลือดหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ปนเปื้อนในอุจจาระ สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติควรเข้ารับคำปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
2. การตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- เป็นวิธีตรวจมะเร็งลำไส้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เนื่องจากแพทย์จะทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทำให้เห็นถึงความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วย รวมถึงสามารถทำการรักษาในกรณีที่พบความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ขณะทำการส่องกล้อง เช่น การตัดเนื้องอกที่อาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ในอนาคต
- ขั้นตอนการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เช่นรับประทานยาระบาย เพื่อเคลียร์ลำไส้ให้สะอาด เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจมะเร็งลำไส้ เมื่อเตรียมพร้อมแพทย์จะทำการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านทวารหนักเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ แพทย์จะเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ภายในลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยผ่านจอแสดงผล หากพบติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกที่ผิดปกติแพทย์อาจทำการเก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจเซลล์มะเร็งได้เลย
- นอกจากจะสามารถตรวจมะเร็งลำไส้ได้แล้ว การส่องกล้องลำไส้ใหญ่สามารถตรวจพบโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น ริดสีดวงทวารทั้งแบบภายนอกและภายใน โรคลำไส้อักเสบ ถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ เนื้องอกหรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่เยอะผิดปกติ เป็นต้น
- การตรวจด้วยส่องกล่องลำไส้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องตรวจบ่อย หากเข้ารับการตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้อีกครั้ง 5-10 ปีนับจากการตรวจครั้งแรก
ค่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ CEA คืออะไร
CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา
โดยปกติแล้วในร่างกายจะพบ CEA ไม่เกิน 5.0 ng/ml แต่ในผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ อาจพบ CEA สูงกว่าค่าปกติได้ แล้ว CEA เกี่ยวข้องกับค่ามะเร็งลำไส้อย่างไร?
เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตจึงมีการใช้โปรตีนภายในร่างกาย และ CEA จะถูกปลดปล่อยมาจากเซลล์มะเร็งสู่เลือด โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบได้มากกว่าและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น ดังนั้น ค่ามะเร็งลำไส้ CEA จึงเป็นตัวบ่งชี้ของการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่อย่างไรก็ตาม ค่า CEA เป็นสารบ่งชี้มะเร็ง ไม่ได้บ่งบอกถึงการเป็นมะเร็ง และไม่สามารถระบุถึงตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็งได้ หากมีปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้เพิ่มเติมอีกครั้ง
ค่าปกติของ CEA ที่พบได้ในร่างกายในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ 2.5-5.0 ng/ml และสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ประมาณ 5.0 ng/ml และค่า CEA ที่สูงกว่าปกติ (มากกว่า 5.0 ng/ml) อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งชนิดอื่น ๆ (แต่มักพบบ่อยกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) แต่อย่างไรก็ตามการตรวจพบค่า CEA ระดับปกติก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็ง ในทางกลับกันหากพบค่า CEA สูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็งแน่นอน อาจเป็นจากโรคชนิดอื่น เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคตับแข็ง หรือเป็นเพียงติ่งเนื้องอกธรรมดา เป็นต้น
ใครบ้างที่ควรตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ทำการตรวจการตรวจอุจจาระมะเร็งลำไส้ทุกปีหรือตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุก 5-10ปี
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้เริ่มตรวจมะเร็งลำไส้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือเริ่มตรวจที่อายุของคนในครอบครัวพบว่าเป็นมะเร็งหักลบอายุไป 10 ปี เช่น ญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เราควรเริ่มเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้เมื่ออายุ 30 ปีเป็นต้นไป
- ผู้ที่มีอาการเสี่ยง เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีมูกเลือด ขนาดอุจจาระลีบเล็ก เบื่ออาหารและน้ำหนักลด เป็นต้น
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ
แนวทางการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด 100% แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ดังนี้
- งด ละ เลิกการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ กากใยสูง เช่น ผักและผลไม้
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภทปิ้งย่าง
นอกจากนี้แนวทางการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ให้ผลดีที่สุดคือการตรวจมะเร็งลำไส้ เราสามารถตรวจมะเร็งลำไส้เพื่อดูความเสี่ยงและแนวโน้มการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้หากส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แพทย์สามารถตัดติ่งเนื้องอกที่พบในลำไส้ เพื่อเป้นการป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้องอกพัฒนากลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้
ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไหนดี
การเลือกสถานพยาบาลที่จะรักษาก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษา โดนเฉพาะเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีความร้ายแรงเป็นอย่างมาก เราจึงจำเป็นต้องเลือกสถานพยาบาลที่ดีสำหรับการตรวจมะเร็งลำไส้ โดยดูจากปัจจัยเหล่านี้
- ชื่อเสียงและการรับรอง มองหาสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมจากองค์กรสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อาทิเช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น
- ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ควรมองหาสถานพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจมะเร็งลำไส้ และต้องมีประสบกรณ์การรักษาที่ชัดเจน พร้อมกับต้องมีแพทย์สาขาอื่น ๆ ค่อยดูแลอย่างครอบคลุม
- สถานที่ตั้งและการเข้าถึง ควรเลือกสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวก เพราะการรักษานั้นต้องใช้ระยะเวลานาน ต้องค่อยไปตามนัดแพทย์บ่อย ๆ
- พิจารณาด้านการประกันและการเงิน ควรตรวจสอบว่าสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเขาไปรักษานั้น อยู่ในเครือเดียวกับประกันของคุณหรือไม่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่คุณต้องชำระหลังการรักษาว่าพอจ่ายหรือไม่ ถ้าไม่ ก็จำเป็นจะต้องหาสถานพยาบาลอื่น หรือข้อกู้เงินต่อไป
- ความพึงพอใจของผู้ป่วย ดูความพึงพอใจจากผู้ป่วยรายอื่น ๆ ก่อนหน้า ว่าทางสถานพยาบาลคอยดูแล เอาใจใส่ผู้ป่วยดีหรือไม่ เพื่อใช้ในการตัดสินใจ
- เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ควรสังเกตให้ดีว่า ทางสถานพยาบาลนั้นมีเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับตรวจมะเร็งลำไส้ ไม่ทรุดโทรม เสียหาย หรือเป็นสนิม ซึ่งมันจะส่งผลต่อการรักษาของคุณอย่างมาก
- ประชาสัมพันธ์ ควรเลือกสถานพยาบาลที่ค่อยให้ความรู้กับผู้ป่วย พร้อมให้คำปรึกษาต่าง ๆ แสดงถึงความใส่ใจในผู้ป่วย
ถ้าตรวจแล้วเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำอย่างไร
หากตรวจพบมะเร็งลำไส้หลังการตรวจ ขั้นตอนแรกคือการปรึกษาทางเลือกการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ระบบทางเดินอาหารหรือมะเร็ง ตัวเลือกการรักษาที่มีอยู่จะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
โดยสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อทราบแล้วว่าผลการตรวจมะเร็งลำไส้แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ระบบทางเดินอาหาร แพทย์มะเร็งวิทยา หรือศัลยแพทย์ด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละด้าน โดยระยะของมะเร็งจะมีผลต่อวิธีการรักษาของแพทย์อีกด้วย
2. ปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษา เพื่อการตัดสินใจตัวเลือกการรักษา
วิธีการรักษามะเร็งลำไส้นั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สุขภาพโดยรวม อายุ ไปจนถึงประวัติการรักษาต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยการรักษานั้นอาจจะรวมถึงการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก เคมีบำบัด ฉายรังสี หรือทั้งสอง โดยแพทย์จะอธิบายวิธีการ ไปจนถึงผลกระทบจากการรักษาแต่ละแบบ เพื่อให้คุณเลือกวิธีการรักษาที่ต้องการ ในกรณีที่สามารถเลือกได้
3. เตรียมพร้อมสำหรับการรักษา
ในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามวิธีรักษาที่ผู้ป่วย กับแพทย์ปรึกษากัน ซึ่งในบางกรณี ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อปรับสภาพร่างกาย ตัวอย่างเช่น ถ้าวิธีที่เลือกจำเป็นที่จะต้องรผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือด หรือถ้าจะทำเคมีบำบัด จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวถึงผลกระทบ หรืออาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ผมร่วง อ่อนเพลีย หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
4. การนัดหมายเพื่อติดตามผล
หลังจากได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้วแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา เพื่อตรวจดูอาการ ความคืบหน้า เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งจะไม่กลับมาอีก โดยแพทย์ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำ CT สแกน หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาสัญญาณของการกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องบอกอาการให้ละเอียด เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนั้น สามารถที่จะลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งขึ้นมาซ้ำได้ หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเลยได้ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้แก่น การทานอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมด้วยผัก ผลไม้ ไปจนถึงธัญพืช นอกจากนั้น การออกกำลังกายเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ตรวจมะเร็งลำไส้เป็นประจำ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจร่างกาย เพื่อให้แผลช่วยแนะนำการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อสรุป
โรคมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไปมาก และโรคมะเร็งที่ตรวจพบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ เลยคือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ค่ะ เนื่องจากโรคมะเร็งจะไม่แสดงถึงสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้นคนส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็มักจะพบในระยะหลัง ๆ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้แล้ว โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงแม้จะพบได้มาก แต่โชคดีที่โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบเร็วหรือตั้งแต่ก่อนเป็น ดังนั้นเราจึงเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ค่ะ