ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถพบได้ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี เนื่องจากการใช้งานข้อเข่าที่ไม่ถูกต้องและหนักเกินไป ทำให้เข่าที่เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของร่างกายคนที่มีหน้าที่รองรับน้ำหนักทั้งตัว รวมถึงการยืน การเดิน และการวิ่ง เกิดการสึกหรอ ทรุดตัว และเสื่อมก่อนเวลาอันควร แต่สามารถป้องกัน และรักษาได้
ข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ที่หมายรวมถึงรูปร่าง และโครงสร้างการทำงานของกระดูกข้อต่อบริเวณข้อเข่าและบริเวณใกล้เคียง ทำให้กระดูกข้อต่อชนกันเพราะขาดผิวกระดูกอ่อนมาหุ้มไว้เพื่อป้องกันการเสียดสีเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้งาน จนเกิดอาการอักเสบ ปวดเข่า เข่าบวม ข้อต่อยึดติด กระทั่งหัวเข่าเกิดการผิดรูป ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจะค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัยที่เกิดจากปัจจัยของอายุที่มากขึ้น, เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่าจากการทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัว, การบริโภคที่ไม่เหมาะสมทำให้มีน้ำหนักตัวเกิน, การใช้ร่างกายที่มีผลกระทบต่อข้อต่อมากเกินไป, เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น จากการทำงาน/เล่นกีฬา, เป็นโรคบางชนิด เช่น เก๊าท์ ต้น
ข้อเข่าเสื่อม อาการเป็นอย่างไร
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมจะเกิดขึ้นช้า ๆ และเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป และไม่มีทางกลับคืนสู่สภาพก่อนเกิดอาการได้อีกเลย สัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อมที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- รู้สึกปวดเข่าเป็นพัก ๆ เมื่อมีแรงกดตรงบริเวณผิวข้อเข่ามาก ๆ
- มีอาการข้อเข่าติด ฝืดตึง เคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า
- มีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่าเวลาที่เคลื่อนไหวร่างกาย
- รู้สึกเจ็บ เวลากดบริเวณข้อเข่า
- ข้อเข่าโก่งผิดรูป กระดูกบริเวณรอบข้อเข่าโตขึ้น อาจมีกระดูกยื่นออกมา
- มีอาการบวม ข้อเข่าอุ่น ๆ ที่เกิดจากการอักเสบ
อาการข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก
โรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าจะผลิตได้น้อย ทำให้กระดูกอ่อนที่หุ้มกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกหน้าแข้งเกิดการเสียดสี และสึกเล็กน้อย ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเข่าเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวข้อเข่า เช่น การขึ้นลงบันได การเดิน ยืนนาน ๆ การนั่งด้วยท่าที่ต้องพับข้อเข่าและขา เช่นการนั่งขัดสมาธิ การนั่งย่อ ๆ ยอง ๆ เป็นต้น ผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมระยะแรกจะปวดเข่าไม่รุนแรง และสามารถหายปวดได้เมื่อมีการพักการใช้งานเข่า
อาการข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง
โรคข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง กระดูกอ่อนที่หุ้มกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกหน้าแข้งจะสึกหรอมากขึ้นกว่าข้อเข่าเสื่อมระยะแรก ส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่า และเกิดอาการเข่าบวม หรือร้อนแดงบริเวณข้อเข่าที่อักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่าที่รุนแรงกว่าระยะแรก คือแค่ทำกิจกรรมปกติที่ไม่ได้ทำให้เข่าต้องรับแรงกดหรือแรงกระแทกมากกว่าปกติอย่างการยืน เดิน ก็มีอาการปวดเข่าได้ และเมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบทอย่างการลุกขึ้นยืน การลงไปนั่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อเข่ามากทำให้ใช้เวลาในการเปลี่ยนอิริยาบทนานกว่าปกติ
และเมื่อผู้ป่วยใช้อิริยาบทที่ต้องทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก เช่นการขึ้นลงบันได จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บข้อเข่ามากจนอาจทำให้ขึ้นลงบันไดได้ยาก และอาการปวดเข่าของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะปานปลางไม่สามารถหายได้ด้วยโดยการพักการใช้งาน
อาการข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง
โรคข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรงนั้นกระดูกอ่อนที่ห่อหมุ้นกระดูกต้นขาและหมอนรองกระดูกหน้าแข้งจะสึกไปมากจนบางหรือแทบไม่เหลือกระดูกอ่อนกับหมอนรองกระดูกเลย ทำให้กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งกระทบ เสียดสีกันโดยตรงจนทำให้เข่าผิดรูปไป
ผู้ป่วยจะไม่สามารถงอเข่า เหยียดเข่าได้สุด หรือเกิดอาการข้อติดจนไม่สามารถงอหรือเหยียดข้อเข่าได้เลย ส่งผลให้ไม่สามารถเดินได้ ในบางรายอาจมีอาการอักเสบมากจนทำให้เกิดอาการบวมน้ำที่ข้อเข่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรงจะรู้สึกปวดเข่าอย่างมาก ขยับ เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ไม่มาก หรือไม่สามารถขยับได้เลย
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
เมื่อมีอาการปวดเข่า ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และหากแพทย์พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีแนวทางในการตรวจเพื่อวินิจฉัยดังนี้
- เอกซเรย์ เพราะโรคข้อเข่าเสื่อมคือการที่กระดูกบริเวณหัวเข่าเกิดการสึกหรอ ดังนั้นเมื่อทำการเอกซเรย์ จะสามารถเห็นโครงสร้างของกระดูกบริเวณเข่าว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น กระดูกงอก กระดูกผิดรูป เป็นต้น
- MRI วิธีนี้จะสามารถบอกถึงรายละเอียดของโครงสร้างบริเวณข้อเข่าได้มากกว่าการเอกซ์เรย์ ดังนั้นภาพจาก MRI จะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมได้จากการเห็นถึงกระดูก เนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูก รวมถึงกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูกว่ามีความผิดปกติ เกิดการสึกหรอไปมากเพียงใด
- ตรวจเลือด เนื่องจากอาการปวดเข่า ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพียงอย่างเดียว อาจมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ได้
- ประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมโดยใช้การซักถาม แพทย์จะทำการประเมินระดับความรุนแรงของโรคโดยให้ใช้ระบบคะแนนเพื่อการประเมิน
ข้อเข่าเสื่อม รักษาอย่างไร
เนื่องจากผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค เพื่อที่จะได้แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด และแตกต่างกันเป็นรายบุคคล การรักษานั้นสามารถทำได้ทั้งแบบไม่ผ่าตัด และผ่าตัด ดังนี้
วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้น
วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น
- การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาและรอบข้อเข่าให้แข็งแรงขึ้น ช่วยถ่ายเทและพยุงข้อเข่าให้ไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกินไป
- การใช้ยาที่เป็นได้ทั้งแบบกิน และแบบฉีด ช่วยลดอาการปวดข้อเข่า
- การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เพื่อลดอาการปวดและฝืดตึงของข้อเข่า
- การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ โดยมากใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น
- การทำกายภาพบำบัด เช่น ทำอัลตร้าซาวด์ ทำเลเซอร์รักษา เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่า
- ทานอาหารเสริม คอลลาเจน เพื่อช่วยลดอาการปวด อักเสบได้
วิธีผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่เลือกใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะรุนแรง และการรักษาเบื้องต้นไม่ช่วยลดอาการปวดลงได้เลย ปัจจุบันการผ่าตัดทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน
- การผ่าตัดจัดแนวกระดูกของข้อและขาใหม่
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถรักษาได้ทั้งผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้อต่อรูมาตอยด์ โรคฮีโมฟีเลีย เกาต์ เป็นต้น
แนะนำอาหารช่วยบำรุงข้อเข่า
การเลือกกินอาหารเป็นอีกวิธีในการรับมือโรคข้อเข่าเสื่อมที่ทำได้ง่าย ๆ นอกเหนือจากการเลือกกินอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น ปลาทะเล, กุ้งแห้ง, งาดำ, นม, โยเกิร์ต, กล้วย, ถั่วอัลมอนด์, ขิง และน้ำเต้าหู้ ที่จะช่วยให้กระดูกแข็งแรง ไม่แตกหรือหักง่ายแล้ว
เราก็ควรทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม, ฝรั่ง รวมทั้งผักและผลไม้ที่มีสีสัน เช่น มะเขือเทศ, แครอท, กะหล่ำปลี, ข้าวโพด, ฟักทอง และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยใย และมีสารอาหารบำรุงข้ออีกด้วย
แนวทางป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นตัวเร่งให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น
- อิริยาบทที่ส่งผลให้ข้อเข่ามีการงอ บิด ผิดรูป เช่น การนั่งยอง ๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ
- การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ ทำให้ข้อเข่าได้รับแรงกระแทกมากขึ้น
- การยก แบกของหนัก หรือน้ำหนักตัวมาก ทำให้ข้อเข่าต้องรองรับน้ำหนักที่มากขึ้น
- การเล่นกีฬาที่ทำให้เข่าเกิดการกระแทกบ่อยครั้ง
เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อชะลออาการข้อเข่าเสื่อม เช่น
- ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่าช่วยรับแรงกด แรงกระแทกแทนกระดูกบริเวณข้อเข่า
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อไม่ให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่ช่วยเสริมสร้างบำรุงกระดูกและข้อ
สรุป
ข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกเมื่อมีการเคลื่อนไหว เมื่อผ่านการใช้งานมานาน หรือมีการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้ โดยโรคข้อเข่าเสื่อมมีระดับความรุนแรงของโรค ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่าไม่ค่อยมาก และจะค่อย ๆ ปวดเข่ามากขึ้นในระดับปานกลางและรุนแรง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการยืน เดิน
แต่โรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันสามารถรักษาได้ด้วยหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เหมาะกับผู้ที่ระดับความรุนแรงของโรคไม่มาก และการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารเพื่อเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง