ผิวแห้ง ปัญหาผิวที่คนส่วนใหญ่เจอ สาเหตุผิวหนังแห้งเกิดจากต่อมไขมันใต้ชั้นผิวหนังผลิตน้ำมันออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ผิวขาดความมันและไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นาน จนทำให้ผิวแห้งกร้าน คัน หรือผิวลอกเป็นขุย วิธีการดูแลรักษาผิวแห้งเป็นขุยเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนัง หรือหลีกเลี่ยงการปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการผิวแห้ง และหากผิวแห้งมาก คัน ลอก อาการรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาอาการอย่างถูกต้อง
ผิวแห้ง (Dry Skin)
ผิวแห้ง คือ ลักษณะของผิวที่มีความแห้งตึง ผิวแห้งกร้าน แตกลาย เป็นเกล็ด หรือผิวลอกเป็นขุย อาจมีลักษณะลอกจนแดง ทำให้เกิดอาการแสบและระคายเคืองได้
ข้อสังเกตของอาการผิวแห้ง
เมื่อผิวหนังแห้ง จะสังเกตได้จาก ผิวหนังตึง แห้งกร้าน มีอาการคัน ผิวแห้งเป็นขุยเล็กน้อยถึงรุนแรงซึ่งทำให้เกิดผิวแห้งดำได้ ผิวแห้งเป็นเกล็ด ผิวแห้งแตกลาย อาจมีอาการแสบแดงระคายเคืองผิวหนังร่วมด้วย
ผิวแห้งเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุผิวแห้ง เกิดจากต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ เมื่อความมันที่เป็นตัวกักเก็บความชุ่มชื้นแก่ผิวน้อยลงทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำมากขึ้นจนผิวขาดน้ำทำให้ผิวแห้ง คัน ลอกเป็นขุย และปัจจัยภายนอกร่างกายที่เป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังเกิดการสูญเสียความชุ่มชื้นได้อีกด้วย เช่น สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น การอาบน้ำ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาผิวแห้งได้เช่นกัน
ผิวแห้งมีกี่ประเภท
ผิวหนังแห้งกร้าน สามารถแบ่งประเภทได้ ดังนี้
ผิวแห้งจากการระคายเคืองสัมผัส (Contact dermatitis)
มักจะเกิดเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารบางอย่างที่ทำให้เกิดการระคายเคือง คัน และแสบ อาจทำให้เกิดผิวแห้งแตกลาย ผิวแห้งประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุด โดยการใช้ชีวิตประจำวันผิวหนังอาจไปโดนสารที่ก่อให้เกิดการระคายผิว เช่น สัมผัสกับสารฟอกขาว, นิกเกิล และยาย้อมผม
ผิวแห้งที่เกิดจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Seborrheic dermatitis)
หรือที่เรียกว่า โรคเซ็บเดิร์ม มักเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู และศีรษะ ส่งผลให้เกิดผื่นแดง มีขุยหรือเป็นสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณผิวหนัง มักมีอาการคันร่วมบริเวณผื่นหรือสะเก็ด ผิวแห้งประเภทนี้พบได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กทารกและผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30-60 ปี และมักเกิดจากความผิดปกติจากภายในร่างกาย เช่น เมื่อมีภาวะเครียด ทำงานหนัก อดนอน เป็นต้น
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผิวแห้ง อายุ กรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ แบคทีเรียบนผิวหนัง และสภาพแวดล้อม ส่งผลให้เกิดผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ทำให้ผิวแห้งแตก คลำและสากคล้ายกระดาษทราย โรคสำคัญ เช่น โรคไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) โรคหนังเกล็ดปลา ลักษณะผิวแห้งแตกเหมือนเกล็ดปลา และโรคกลาก ลักษณะผิวแห้งเป็นวงแดง เกิดสะเก็ดบาง ๆ ผิวหนังแดงและคัน
ผิวแห้งรุนแรงแค่ไหนที่ควรพบแพทย์
ส่วนใหญ่จะสามารถรักษาผิวแห้งได้ด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ถ้าหากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น
- เมื่อรักษาเองที่บ้านแล้วอาการยังคงอยู่และไม่ดีขึ้น
- ผิวหนังมีอาการปวดและอักเสบ
- ผิวแห้งและหนาขึ้น ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง
- รู้สึกไม่สบายตัวจนทำให้นอนไม่หลับหรือฟุ้งซ่านจนทำให้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีแผลหรือติดเชื้อจากการเกา
- ผิวหนังตกสะเก็ดหรือลอกเป็นบริเวณกว้าง
แนะนำให้รีบพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง
ป้องกันและรักษาอาการผิวแห้ง
ผิวหนังแห้งแตกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศหนาวทำให้ผิวแห้ง การอาบน้ำร้อนเกินไป อาหาร และการใช้สารเคมีบางชนิด สาเหตุเหล่านี้ที่ส่งผลทำให้เกิดการแพ้ ผิวแห้งแสบ ผิวสาก ลอกเป็นขุย เกิดสะเก็ด แห้งกร้าน และระคายเคือง โดยวิธีที่ง่ายต่อการป้องกันและรักษาผิวแห้งมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน
การอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงส่งผลให้ผิวแห้งย่น เนื่องจากน้ำร้อนจะไปชะล้างน้ำมันที่อยู่บนผิวทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น และแห้งลอกได้ หากติดการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจริง ๆ ควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็นในช่วงท้ายของการอาบน้ำ เพื่อที่จะได้เป็นการปิดรูขุมขนของผิวหนังและป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นของผิว
2. ทาครีมบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำ
หลังอาบน้ำเสร็จจะเป็นช่วงเวลาที่ผิวเปิด ทำให้การทาครีมมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรเลือกครีมที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงที่มีน้ำหอมและแอลกอฮอล์ผสม เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย หมั่นทาเป็นประจำทุกวันเพื่อลดปัญหาการเกิดผิวแห้ง
3. เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแห้งที่มีส่วนผสมของ เซราไมด์ (Ceramides)
การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผิวแห้ง ผิวขาดความชุ่มชื่นแม้จะดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่แท้จริงแล้วส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย การเลือกส่วนผสมที่มี เซราไมด์ (Ceramides) ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องและช่วยรักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแข็งแรง การถูกทำลายจากแสงแดดหรือแบคทีเรียที่ก่อปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลงเมื่อผิวหนังแข็งแรงและมีความชุ่มชื้นที่เพียงพอ
4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีโอเมกา 3 และวิตามินเอ ซี อี
การดื่มน้ำให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยฟื้นฟูสภาพผิวให้มีความชุ่มชื้น ร่วมกับการทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแห้งมากให้เลือกรับประทานอาหารที่มีโอเมกา 3 สูงที่จะช่วยเสริมสร้างชั้นน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวหนัง เช่น ปลาแซลมอน น้ำมันตับปลา ผักโขม และรับประทานวิตามินเอ ซี อีก็จะช่วยในการเสริมสร้างและกระตุ้นคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนังทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ผิวอิ่มน้ำ เต่งตึง มีน้ำมีนวล ลดปัญหาการเกิดผิวแห้งจากภายในได้อีกด้วย
5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แห้งและอุณหภูมิเย็น
เมื่อความชื้นในอากาศลดลง ส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นและผิวแห้งง่าย หากต้องอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งและเย็นต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรหมั่นทาโลชั่นที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาผิวแห้ง
คำถามที่พบบ่อย
ผิวแห้งทำให้เกิดสิวได้หรือไม่?
ปัญหาผิวแห้ง หลัก ๆ เกิดจากการที่ผิวขาดน้ำเกราะป้องกันผิวจึงอ่อนแอ เมื่อผิวขาดความชุ่มชื้นและไวต่อการระคายเคืองทำให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย การผลัดเซลล์ผิวที่แปรปรวนเกิดการสะสมของเซลล์ผิวเก่าที่หมดสภาพไม่ยอมหลุดลอกจนเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เกิดสิวได้นั่นเอง
ข้อสรุป
ผิวแห้งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการแพ้สารเคมีบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการผิวแห้ง อีกทั้งปัญหาผิวแห้งยังเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวได้อีกด้วย การดูแลรักษาผิวแห้งสามารถดูแลได้เองเบื้องต้นโดยการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพ้ รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว และถ้าหากมีผิวแห้ง คัน ลอก อาการรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง