ใครมีอาการข้อเท้าพลิกบ้าง หลากหลายคนคงเคยประสบอาการเหล่านี้ทั้งข้อเท้าพลิกบ่อย ข้อเท้าพลิกเรื้อรัง จนคิดว่าแค่ข้อเท้าพลิกปล่อยไว้เดี๋ยวก็คงดีขึ้้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กแต่จริงๆ แล้วอาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม บทความนี้จะมาตอบว่าทำไมถึงควรใส่ใจเมื่อเกิดข้อเท้าพลิก อ่านสาระดีๆ พร้อมกันได้ที่นี่เลย
ข้อเท้าพลิก (Sprained Ankle)
ข้อเท้าพลิก (Sprained Ankle) หรือ ข้อเท้าแพลง คือ อาการบาดเจ็บของข้อเท้าที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิต และการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา การเดินบนพื้นที่ขรุขระ พื้นต่างระดับ การใส่รองเท้าส้นสูง เป็นต้น ซึ่งอาการข้อเท้าพลิกจะเป็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณข้อเท้าที่อาจมีการยืดมากเกินไปจนได้รับการบาดเจ็บอย่างกะทันหัน
สาเหตุอาการข้อเท้าพลิก
สาเหตุของข้อเท้าพลิก เกิดจากการที่ข้อเท้ามีการบิดผิดรูป หรือหันเข้าด้านในอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้ข้อเท้าเกิดลักษณะดังกล่าว ทั้งปวด บวม ช้ำ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของอาการข้อเท้าพลิกมักเกิดจากสาเหตุต่างๆ ต่อไปนี้
1. เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท้าที่ต้องมีการวิ่ง เดิน กระโดด เคลื่อนที่จากอีกจุดหนึ่งไปอย่างจุดหนึ่ง หรือเกิดการเหยียบเท้ากันในขณะเล่นกีฬา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้อาจทำให้นักกีฬาเกิดการวางเท้าบนพื้นในลักษณะที่ผิดพลาด จนทำให้ข้อเท้าเกิดการบิดผิดรูปอย่างกะทันหัน เช่นกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แบตมินตัน เป็นต้น
2. อุบัติเหตุ
อุบัติเหตุบางอย่างในการใช้ชีวิตประจำวัน การไม่ทันระวังตัวในการเดิน หรือการวิ่งก็ทำให้เกิดอาการเท้าพลิกได้เช่นเดียวกัน อย่างการเดินขึ้นลงบันได พื้นที่ต่างระดับ พื้นที่มีความขรุขระ หรือแม้กระทั่งการก้าวลงจากเตียง เป็นต้น
3. สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดการทรงตัวของเท้า และข้อเท้าที่มีความลำบากมากยิ่งขึ้นเมื่อก้าวเดิน หรือวิ่งในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นรองเท้าส้นสูงที่มีความหนาของปลายส้นที่แหลม เพื่อช่วยเสริมให้สูงมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับความลำบากในการทรงตัวโดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยใส่ จึงทำให้อาจเกิดการเสียหลักจนข้อเท้าพลิกได้
อาการข้อเท้าพลิกแต่ละระดับ
เคยไหม? เวลาข้อเท้าพลิกมีทั้งคนที่รู้สึกเจ็บมาก เจ็บน้อย ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าอาการของข้อเท้าพลิกนั้นสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของอาการได้เป็น 3 ระดับ ซึ่งได้แก่
ความรุนแรงระดับที่ 1
ความรุนแรงระดับที่ 1 ของข้อเท้าพลิกคือมีกอาการบวม ฟกช้ำ หรือสัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากเส้นเอ็นเกิดการยืดตัวมากกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับฉีกขาด
ความรุนแรงระดับที่ 2
สำหรับความรุนแรงระดับที่ 2 ของข้อเท้าพลิก คือเส้นเอ็นมีการฉีกขาดบางส่วน ข้อเท้าบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมีการบวม ฟกช้ำ รวมถึงอาการปวดปานกลาง นอกจากนั้นยังไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้เป็นปกติ
ความรุนแรงระดับที่ 3
ข้อเท้าพลิกความรุนแรงระดับ 3 เป็นระดับรุนแรงที่สุด นั่นเป็นเพราะว่าเส้นเอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการฉีกขาดอย่างน้อย 1 เส้น หรือฉีกขาดทั้งหมด ไม่สามารถยืนอย่างมั่นคงได้ มีอาการปวดอย่างรุนแรง และบวมอย่างเห็นได้ชัด
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อข้อเท้าพลิก
เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงขึ้น เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร? เป็นคำถามที่หลายๆ คนเมื่อประสบกับเหตุการณ์ข้อเท้าพลิกอยากรู้กันมาก เพราะความเจ็บปวดที่ได้รับเป็นอย่างแรก หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ถูกวิธี ก็คงจะสามารถบรรเทา และทุเลาอาการที่เกิดขึ้นให้ดีได้ ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อเท้าพลิก มีดังนี้
1. การประเมินอาการตนเอง
สิ่งแรกเลยเมื่อเกิดข้อเท้าพลิกคือจำเป็นต้องประเมินตนเองว่าความรุนแรงของข้อเท้าพลิกที่กำลังเผชิญอยู่ในระดับไหน หากอยู่ในระดับรุนแรงจำเป็นจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาวินิจฉัยอาการโดยเร่งด่วน แต่ถ้าอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงก็สามารถที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองได้
2. การใช้ผ้าพันรัดข้อเท้า
การเลือกใช้ผ้าพันรัดข้อเท้า หรือที่เรียกติดปากว่าผ้าพันข้อเท้าพลิก ในการปฐมพยาบาลตัวเองจะสามารถช่วยรับแรงกดจากข้อต่อได้ นอกจากนั้นหากมีอาการบวมการใช้ผ้าพันรัดข้อเท้าไว้จะช่วยบรรเทาให้อาการบวมลดลงอีกด้วย
3. การประคบเย็น
การประคบเย็นไว้ที่ข้อเท้าที่พลิก ข้อเท้าแพลงสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เพราะว่าความเย็นจะช่วยลดการไหลเวียนของเลือด ลดอาการบวม บรรเทาอาการอักเสบ
4. การยกปลายเท้าขึ้นสูง
การยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ จะสามารถช่วยลดอาการบวมที่เกิดขึ้นจากข้อเท้าได้ด้วยเช่นกัน
ข้อเท้าพลิกแบบไหนควรพบแพทย์
ข้อเท้าพลิกควรไปพบแพทย์ไหม เป็นคำถามที่สงสัยกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งในกรณีที่ข้อเท้าพลิกมาสักพักประมาณ 1 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดบวมมากขึ้น หากมีอาการดังนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการบาดเจ็บ
แพทย์อาจมีการตรวจด้วยวิธีการให้ขยับข้อเท้า ขยับเท้าเพื่อประเมินดูอาการบาดเจ็บ และกระดูก หรืออาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าเส้นประสาท เส้นเลือด หรือเอ็นร้อยหวายปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบที่น่ากังวล และทำการรักษาอย่างถูกวิธี
การวินิจฉัยอาการข้อเท้าพลิก
สำหรับการวินิจฉัยอาการข้อเท้าพลิกแพทย์อาจทำการเอกซเรย์ดูกระดูกเพิ่มเติม ว่ามีส่วนใดหักหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจมีการใช้วิธีอื่นๆ เพื่อตรวจดูอาการบาดเจ็บของข้อเท้าพลิกที่มีอาการรุนแรง เช่น การสแกน MRI เพื่อดูเส้นเอ็น กระดูกอ่อน อื่นๆ เพื่อดูความเสียหาย ใช้การอัตราซาวน์ หรือไม่ว่าจะเป็นการทำภาพจำลองกระดูกด้วย CT Scan
วิธีการรักษาอาการข้อเท้าพลิก
เมื่อเกิดอาการข้อเท้าพลิกเราควรรักษาให้เหมาะสม และถูกวิธี ซึ่งต้องประเมินอาการบาดเจ็บว่าอยู่ในระดับความรุนแรงเท่าใด ซึ่งวิธีการรักษาอาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง สามารถแบ่งออกได้เป็น
การรักษาข้อเท้าพลิกแบบไม่ต้องผ่าตัด
สำหรับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดคือจะใช้วิธีการประคบเย็น ยกข้อเท้าให้สูง ใช้ผ้าพันรัดข้อเท้า หรืออาจใช้เฝือกอ่อนในการประคองข้อเท้า นอกจากนั้นอาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด บวมให้ดีขึ้น เช่น กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ยาชนิดสเตียรอยด์ (NSAIDs)
การผ่าตัดรักษาข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะเป็นการรักษาในกรณีที่ข้อเท้าพลิกมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ข้อเท้ามีความไม่มั่นคง ซึ่งจะอยู่ในระดับรุนแรง และไม่ตอบสนองการรักษาจนต้องนำมาสู่วิธีการผ่าตัด โดยอาจจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือจะเป็นผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
อาการแทรกซ้อนจากข้อเท้าพลิก
หากเกิดข้อเท้าแพลง ข้อเท้าพลิกแล้วปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกวิธี ปล่อยให้มีการพลิกบ่อยๆ ออกไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา เคลื่อนไหวข้อเท้าโดยไม่สนอาการบาดเจ็บของข้อเท้า อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนจากข้อเท้าพลิกได้ เช่น
- เกิดการปวดข้อเท้าเรื้อรัง
- โรคข้ออักเสบในข้อต่อเท้า
- เกิดอาการบาดเจ็บข้อเท้าอีกข้าง เนื่องจากมีลักษณะการเดินที่เปลี่ยนไปจากข้อเท้าพลิก
- ข้อต่อข้อเท้ามีความไม่มั่นคง
แนวทางการป้องกันไม่ให้ข้อเท้าพลิก
อย่างที่เราทราบกันว่าข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง หากไม่ปฐมพยาบาล รักษาให้เหมาะสมอาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีก ฉะนั้นควรป้องกันไม่ให้ข้อเท้าพลิกเพื่อสุขภาพข้อต่อข้อเท้าที่ดี โดยสามารถทำตามได้ง่ายๆ ตามนี้
- วอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย-เล่นกีฬา
- ฝึกการทรงตัว
- เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี ใส่สบาย
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูง
- ควรระมัดระวังเพิ่มขึ้นหากจำเป็นต้องเดิน วิ่ง บนพื้นที่ขรุขระ หรือพื้นที่ต่างระดับ
ข้อสรุป
อาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เป็นอาการบาดเจ็บที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ของคนเรา ในบางครั้งอาจเป็นเพราะรองเท้าที่ใส่อยู่ไม่เหมาะสม ทำให้ทรงตัวได้อยาก หรือแม้กระทั่งพื้นที่ขรุขระ แม้จะเหมือนเรื่องเล็ก
แต่อาการบาดเจ็บสามารถแบ่งระดับความรุนแรงเพื่อประเมินการรักษา ปฐมพยาบาลให้ถูกวิธีเพื่อไม่นำไปสู่อาการแทรกซ้อนจากข้อเท้าพลิกได้ ซึ่งเราควรใส่ใจและป้องกันไม่ให้เกิดอาการข้อเท้าพลิกบ่อยๆ ด้วยการเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม ฝึกการทรงตัว ก็จะช่วยให้ห่างไกลได้ยิ่งขึ้น