การทำอิ๊กซี่ icsi คืออะไร ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วปกติอย่างไร

icsi คืออะไร
รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำ ICSI
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน แสดงหัวข้อ

แก้ปัญหามีบุตรยากด้วยการทำอิ๊กซี่ หรือ ICSI 

ในยุคปัจจุบันด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้หลาย ๆ คนกว่าจะพร้อมสร้างครอบครัวแต่อายุก็เริ่มมากขึ้นแล้ว การจะมีบุตรเมื่ออายุเริ่มมากอาจทำให้ประสบความสำเร็จยากกว่า ดังนั้นจึงมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้การมีบุตรนั้นง่ายขึ้นกว่าการปฏิสนธิทางธรรมชาติ เช่น IVF ICSI เป็นต้น

เด็กหลอดแก้วคืออะไร?

เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization) เป็นการนำไข่ของคุณแม่มาปฏิสนธิกับอสุจิของคุณพ่อภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วได้ตัวอ่อน จึงนำตัวอ่อนนั้นกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของคุณแม่เพื่อให้ตัวอ่อนเติบโตต่อไป 

แต่เดิมนั้นมีการพัฒนาวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากโดยเทคนิค IVF ซึ่งวิธีนี้จะนำไข่และอสุจิมาใส่ในจานเพาะเลี้ยง และรอให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่เอง ก่อนจะนำตัวอ่อนที่ได้รับการผสมเทียมกลับเข้าโพรงมดลูก แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผสมเทียมนั้นมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น คือ การทำ ICSI นั่นเอง 

แล้วการทำอิ๊กซี่ ICSI คืออะไรล่ะ?

เทคโนโลยี ICSI หรือ Intracytoplasmic sperm injection นั้นมีขั้นตอนที่ไม่ได้แตกต่างจาก IVF มากนัก แต่ต่างกันที่มีการใช้เครื่องอิ๊กซี่ ICSI เข้ามาช่วยในการผสมเทียม โดยขั้นตอนการทำ ICSI คือ การคัดเลือกอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และฉีดเข้าไข่โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง เป็นการแก้ปัญหาของอสุจิที่อาจแข็งแรงไม่พอที่จะเจาะเปลือกของไข่ได้ และลดโอกาสของการที่อสุจิที่ไม่สมบูรณ์เข้าไปผสมกับไข่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จมากขึ้น

IVF กับ ICSI ต่างกันหรือไม่? อย่างไร?

จากที่ได้กล่าวไปนั้น ทั้ง IVF กับ ICSI ต่างก็เป็นเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว ที่นำไข่และอสุจิมาปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือการผสมเทียม แต่จุดแตกต่างกันโดย ICSI คือการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่า IVF คือการใช้เค่รื่องมืออิ๊กซี่ ICSI ในการเจาะไข่และฉีดอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกว่าแข็งแรงที่สุดเพียงตัวเดียว ซึ่งต่างจาก IVF เพียงแค่นำไข่และอสุจิหลาย ๆ ตัวอยู่ในจานเพาะเลี้ยง และรอให้อสุจิที่แข็งแรงสามารถเจาะไข่ได้ ดังนั้น ICSI จึงเป็นเทคนิคที่ช่วยให้โอกาสเกิดการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จมากกว่า IVF 

ทำ icsi ราคาเท่าไหร่

ขั้นตอนการทำ ICSI มีอะไรบ้าง?

1. ปรึกษาแพทย์

แพทย์จะประเมินสภาพร่างกายทั้งของคุณพ่อและคุณแม่ก่อนรวมถึงให้คำแนะนำถึงการเตรียมตัวและวางแผนเข้ารับการรักษา 

2. เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่

แพทย์จะดูระดับฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่โดยการเจาะเลือด ในช่วงวันที่ 2-3 ของรอบประจำเดือน และทำการตรวจจำนวนไข่ของรอบประจำเดือนนั้นด้วยการทำอัลตราซาวน์ จากนั้นจึงฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นรังไข่ และแพทย์จะทำการนัดตรวจระดับฮอร์โมนและการเจริญเติบโตของไข่เป็นระยะ โดยเวลาที่ใช้ประมาณ 8-10 วัน

3. เก็บไข่/อสุจิ

เมื่อรังไข่ของคุณแม่ถูกกระตุ้นจนไข่สามารถเจริญเติบโตได้ตามต้องการแล้ว แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนทำการเจาะเก็บไข่ โดยใช้เครื่องมือคล้ายเข็มขนาดเล็กสอดเข้าทางช่องคลอด และทำการเจาะดูดไข่ออกมาเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อรอทำการผสมเทียม

สำหรับคุณพ่อ จะเก็บอสุจิเพื่อคัดแยกเฉพาะอสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดเพื่อนำไปผสมเทียมกับไข่

4. ICSI (อิ๊กซี่)

เมื่อทำการเก็บไข่และอสุจิเรียบร้อยแล้ว จะนำอสุจิที่ได้รับการคัดเลือกมาฉีดเข้ากับไข่่โดยตรงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ

5. เลี้ยงตัวอ่อน

เมื่อทำการปฏิสนธิแล้ว และสามารถเกิดเป็นตัวอ่อนได้ จึงนำตัวอ่อนนั้นมาเลี้ยงต่อในห้องปฏิบัติการ โดยต้องควบคุมสภาวะให้เหมาะสมที่สุด เมื่อเซลล์สามารถแบ่งตัวและเจริญเข้าสู่ระยะ Blastocyst แล้วจึงจะนำตัวอ่อนย้ายเข้าโพรงมดลูก

6. ย้ายตัวอ่อน

เมื่อตัวอ่อนแข็งแรงดี แพทย์จะทำการนัดคุณแม่เพื่อทำการฝังตัวอ่อนเข้ากับโพรงมดลูก โดยใช้สายนำตัวอ่อน สอดเข้าทางช่องคลอด และหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในโพรงมดลูก และทำการฝังตัวอ่อนต่อไป

7. ตรวจการตั้งครรภ์

เมื่อฝังตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกของคุณแม่แล้ว แพทย์จะทำการนัดตรวจระดับฮอร์โมนทุก ๆ 3 วัน และสามารถทราบผลการตั้งครรภ์ได้ภายใน 14 วัน

การทำอิ๊กซี่ ICSI คือตัวเลือกที่เหมาะสำหรับใครบ้าง?

เทคโนโลยี ICSI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากจะเพิ่มความเสี่ยงของการมีบุตรยาก และยิ่งไปกว่านั้น เด็กจะมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติสูงกว่าคุณแม่ที่อายุน้อย
  • คุณแม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ความผิดปกติของท่อนำไข่ที่ตีบตัน ภาวะตกไข่ผิดปกติ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก เป็นต้น
  • คุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม
  • คุณพ่อที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เชื้ออสุจิมีจำนวนน้อย เชื่ออสุจิมีคุณภาพไม่ดี 
  • คุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีปัญหาไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้
  • คุณพ่อหรือคุณแม่ที่ผ่านการทำหมันแล้ว แต่อยากจะมีบุตรอีก
  • คุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ

จะทำอิ๊กซี่ ICSI แล้ว คุณพ่อและคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

การเตรียมตัวเพื่อจะมีบุตร จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อให้โอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จมากขึ้น

การเตรียมตัวของคุณแม่ก่อนทำ ICSI

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
  • ตรวจร่างกายเพื่อประเมินสภาพร่างกายก่อนเข้ารับการรักษา ในช่วง 2-3 วันระหว่างกายมีประจำเดือน
  • ตรวจระดับฮอร์โมนด้วยการเจาะเลือด ตรวจมดลูกด้วยการอัลตราซาวน์ ในช่วงวันแรก ๆ ของการมีประจำเดือน เพื่อเช็คสภาพของโพรงมดลูก และรังไข่ว่ามีประสิทธิภาพในการตั้งครรภ์หรือไม่
  • หากรับประทานยาอยู่ หรือมียาที่รับประทานเป็นประจำควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเตรียมตัวของคุณพ่อก่อนทำ ICSI

  • พักผ่อนให้เพีียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พยายามทำให้จิตใจปกติ ไม่เครียดจนเกินไป
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่น และการอบซาวน่า
  • หลีกเลี่ยงสารใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป
  • งดกิจกรรมที่เกิดการหลั่งอสุจิ 5-7 วันก่อนพบแพทย์

การทำอิ๊กซี่เตรียมตัวอย่างไร

การดูแลตนเองหลังทำ ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ที่มากขึ้น

การทำอิ๊กซี่ ICSI ไม่ใช่ว่าแค่ทำเสร็จก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลย หลังจากการทำ ICSI คุณแม่ยังต้องดูแลตนเองเพื่อไม่ให้ตัวอ่อนนั้นไม่สามารถฝังตัวกับโพรงมดลูกได้

  • เมื่อทำการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกแล้วต้องนอนพักก่อน 2 ชั่วโมง
  • งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังทำ ICSI ก่อน รวมถึงงดการสวนล้างช่องคลอด
  • งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เช่นการยกของหนัก การออกกำลังกายหนัก ๆ
  • เมื่อให้ระดับฮอร์โมนเป็นไปตามเหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงให้เกิดภาวะเครียด 
  • ระวังการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออกหลังทำ ICSI ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

ICSI ราคาเท่าไร?

เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และยาที่มาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ ICSI ฮอร์โมนเพื่อการกระตุ้นไข่ น้ำยาเลี้ยงไข่และอสุจิ และอีกมากมาย จึงทำให้ราคาของ ICSI ค่อนข้างสูง ซึ่งราคา ICSI จะอยู่ในช่วง 200,000-500,000 บาทขึ้นกับแต่ละคลีนิกหรือโรงพยาบาลที่ไป 

จะทำ ICSI จะเลือกสถานที่ที่ไปอย่างไรดี?

เพราะการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นเรื่องสำคัญของคุณแม่และคุณพ่อที่อยากจะมีลูก แต่สภาพร่างกายมีข้อจำกัด ดังนั้นการทำ ICSI คือตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่ง แต่การเลือกสถานที่ที่เราจะฝากชีวิตได้นั้นควรจะต้องมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ และคุ้มกับเงินที่เสียไป 

รวมคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยเกี่ยวกับ ICSI 

1. ไปทำ ICSI แล้วไม่สำเร็จ ทำ ICSI แล้วไม่ติด เกิดจากอะไร?

ตอบ การทำ ICSI ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ มีหลายปัจจัยคือ

  • ผนังมดลูกหรือโพรงมดลูกของคุณแม่ไม่แข็งแรงพอที่จะให้ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้ 
  • ตัวอ่อนที่ได้รับไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการเลี้ยงตัวอ่อนในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ทำให้ตัวอ่อนมีพัฒนาการที่ช้า หรือไม่สมบูรณ์ เมื่อนำตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ไปฝังตัว จึงทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้
  • ปัญหาของระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น แต่เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนนี้ไม่มากพอ ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือฝังตัวแล้วแต่ไม่เจริญเติบโตต่อ

2. ทำ ICSI สามารถเลือกเพศ หรือทำลูกแฝดได้ไหม?

ตอบ ตามกฎหมายนั้น ยังไม่สามารถเลือกเพศบุตรได้ ได้แต่รับรู้เพศของบุตรเท่านั้น ส่วนเรื่องลูกแฝด การทำ ICSI ก็มีโอกาสที่จะเกิดแฝดได้ จากการนำไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิ 2 ใบฝังในโพรงมดลูกของคุณแม่ เพื่อเพิ่มโอกาสกสรตั้งครรภ์มากขึ้น แต่อาจเกิดการตั้งครรภ์สำเร็จเพียงแค่ไข่ใบเดียวหรืออาจทั้งสองใบได้ สำหรับกรณีนี้หากสำเร็จจะได้แฝดเทียม

3. ทำหมันแล้ว แต่อยากมีลูกอีก ทำ ICSI ได้ไหม?

ตอบ ถึงจะทำหมันแล้วก็ยังสามารถทำ ICSI ได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้หมัน เพราะไม่อาศัยท่อนำไข่ในการทำ 

 

สรุปการทำ ICSI

การทำ ICSI คือการทำเด็กหลอดแก้วที่พัฒนามาจาก IVF ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จมากกว่า สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีภาวะมีบุตรยาก การเลือกทำ ICSI คือตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่ง ทั้งนี้แพทย์จะให้คำแนะนำและวางแผนการรักษาก่อนทำ ICSI เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

ref

Kalampokas T, Sofoudis C, Boutas I, Aravantinos L, Kalampokas E, Deligeoroglou E. IVF/ICSI frozen replacement cycles; every cycle? Opinion expressed after a systematic review of the literature. Clin Exp Obstet Gynecol. 2015;42(2):173-5. PMID: 26054112.

Aytoz A, Van den Abbeel E, Bonduelle M, Camus M, Joris H, Van Steirteghem A, Devroey P. Obstetric outcome of pregnancies after the transfer of cryopreserved and fresh embryos obtained by conventional in-vitro fertilization and intracytoplasmic sperm injection. Hum Reprod. 1999 Oct;14(10):2619-24. doi: 10.1093/humrep/14.10.2619. PMID: 10527997.

Thank you for your Vote Rating
[Total: 0 Average: 0]